-
ชื่ออื่น ๆ
-
ช้างร้องไห้ (ตรัง); ตะแหนด, แหนด (ใต้)
ช้างไห้ชนิดนี่เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๒๐-๓๐ ซม. ลำต้นมีรอยแผลกาบใบเป็นวงเห็นชัด
ใบรูปฝ่ามือแกมขนนก มี ๔๐-๔๕ ใบ เรียงเวียนแน่นที่ยอด กาบใบมีขุยสีน้ำตาล แยกเป็นง่ามถึงโคนกาบ ขอบกาบเป็นเส้นใย ก้านใบยาว ๓-๔ ม. แข็งเป็นร่องลึกทางด้านบน ขอบเรียบและคมมาก กระจังใบเห็นชัด แผ่นใบสีเขียวเข้มทั้ง ๒ ด้าน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๕ ม. เป็นแฉกลึกตามแนวรัศมี มี ๗๐-๘๐ แฉก ไม่เป็นระเบียบ ลู่ลง แต่ละแฉกพับจีบยาว ๑.๔-๑.๗ ม. เส้นใบเรียงขนานจากโคนแฉกสู่ปลายแฉก มีเส้นใบย่อยเรียงตามขวางเห็นชัด
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกออกระหว่างกาบใบมีได้ถึง ๘ ช่อ ห้อยลง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนงสองชั้น ยาวได้ถึง ๒ ม. มีช่อแขนง ๕-๙ ช่อ แต่ละ
ช่อแขนงมีช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด ๓-๔ ช่อ ก้านช่อดอกยาว ๒๐-๔๐ ซม. แกนกลางช่อดอกยาว ๑-๑.๕ ม. ใบประดับเป็นกาบ กว้างประมาณ ๑๐ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ช่อแขนงย่อย ยาว ๓๐-๔๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ ซม. คล้ายงวงตาล ใบประดับเรียงเวียนแน่นซ้อนเหลื่อมกันแต่ละใบรองรับกลุ่มดอกเพศผู้ ๒-๖ ดอก ดอกเพศผู้สีขาวนวล มีกลิ่นหอม ยาว ๑.๗-๒ ซม. ไม่มีก้านดอกกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยาวประมาณ ๘ มม. เกสรเพศผู้ ๙-๑๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูสีเหลืองยาวประมาณ ๕ มม. เกสรเพศเมียเป็นหมัน ขนาดเล็กหรือไม่มี ช่อดอกเพศเมียแบบช่อเชิงลด ไม่แยกแขนงยาว ๐.๗-๑ ม. ก้านช่อดอกยาว ๓๐-๕๐ ซม. แกนกลางช่อดอกยาว ๔๐-๖๐ ซม. ใบประดับเรียงเวียนแน่นซ้อนเหลื่อมกัน แต่ละใบรองรับดอกเพศเมีย ๑ ดอก ดอกเพศเมียสีขาวนวล ใหญ่กว่าดอกเพศผู้ยาว ๒.๘-๓.๒ ซม. ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๓ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง สีเขียวอมม่วง สุกสีดำแกมเหลือง ทรงรูปไข่กลับ แป้น กว้าง ๗-๑๓ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ผนังผลชั้นนอกเรียบ ผนังผลชั้นกลางหนา ๐.๕-๑ ซม. สุกสีเหลืองอมส้ม นุ่ม มีเส้นใยจำนวน
มาก กลิ่นหอมหวาน เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๓ เมล็ด เนื้อเมล็ดสีขาวเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแก่แข็ง
ช้างไห้ชนิดนี่เป็นพรรณไม้ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นมักพบบริเวณที่เป็นหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและคาบสมุทรมาเลเซีย
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ผนังผลชั้นกลางรับประทานได้.