กรักเป็นไม้เถาล้มลุก ลำต้นเลื้อยเกาะตามต้นไม้คดไปมารากออกเป็นกระจุกตามข้อ ผิวเรียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปใบหอก ค่อนข้างเบี้ยว กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน หรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบเป็นสันนูนทางด้านล่างเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายโค้งจรดกับเส้นขอบใบ ก้านใบเรียว ยาว ๗-๒๔ ซม. ด้านบนเป็นร่อง มีครีบเกือบตลอดก้าน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ๑-๓ ช่อ รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๒-๖ ซม. สีขาวอมเขียวปลายช่อตั้ง ก้านช่อเหนือกาบหุ้มช่อดอกยาว ๒-๗ มม. กาบหุ้มช่อดอกรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปกระสวย โค้งกลับ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นจะงอยยาว ๑-๒ ซม. สีเขียวอมขาว หลุดร่วงง่ายหลังการผสมเกสร ก้านช่อใต้กาบหุ้มช่อดอกยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกมีจำนวนมาก ติดรอบแกนช่อดอก รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายตัด ไม่มีก้านดอกและกลีบดอก มีเยื่อบาง ๆ สีขาวรูปถ้วยหุ้มดอก ยาวเท่ากับเกสรเพศเมียหรือสั้นกว่า เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูรูปซ้อน ติดที่ฐาน แกนอับเรณูเรียวบางสีดำ อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน สีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงเกสรเพศผู้ รูปกรวยกลับ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวราบ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ค่อนข้างกลมปลายตัด เนื้อนุ่ม สุกสีส้มแดง มีเมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม ๑ เมล็ด ผิวเรียบ
กรักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีน.