เครือจางน้อยเป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งเป็นสันและร่องสลับกัน มีขนสั้นหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น เรียงตรงข้าม ก้านใบยาว ๒-๗.๕ ซม. มีขนสั้นหนาแน่นแกนกลางยาว ๖-๑๐ ซม. มีใบย่อย ๕-๒๑ ใบ รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๒-๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือมนกลม ขอบเรียบพบบ้างที่มีจักซี่ฟัน ๑ จัก ใบย่อยใบปลายมีขนาดใหญ่สุดแผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนมีขนสั้นประปรายถึงหนาแน่น ด้านล่างมีขนสั้นหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น เห็นชัดเฉพาะเส้นใกล้โคนใบ ก้านใบย่อยมีตั้งแต่สั้นมากจนยาวได้ถึง ๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒.๕-๗ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น พบบ้างที่ก้านช่อดอกสั้นมาก ดอกในช่อมีตั้งแต่ ๘ ดอกถึงจำนวนมาก ดอกสีขาว เขียว หรือเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับรูปไข่หรือรูปแถบ ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. มีก้านสั้นหรือไร้ก้าน ใบประดับย่อยขนาดเล็กมาก กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๘ มม. แผ่กางออก มีขนกำมะหยี่ทั่ง ๒ ด้าน แต่ด้านนอกมีขนหนาแน่นกว่าไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ จำนวนมาก ยาว ๔-๖ มม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมากแยกจากกันเป็นอิสระ รูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวไม่เกิน ๑ มม. มีขนอุยหนาแน่นมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ติดแบบห้อยลง ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. มีขนอุยหนาแน่น
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปใบหอกแคบหรือรูปกระสวย กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ยาว ๓-๔ ซม. มีขนยาวนุ่มเมล็ดมีขนาดเล็กมาก
เครือจางน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบตามริมลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่พม่าจีนตอนใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.