-
ชื่ออื่น ๆ
-
มหาหงส์สมุย, ว่านใจดำ (ทั่วไป)
ตาเหินสมุยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นบนหิน พบบ้างที่อิงอาศัย มักพบแตกกอค่อนข้างแน่น มีเหง้าสั้น ฉ่ำน้ำ ใจกลางเหง้ามักมีสีม่วงคล้ำค่อนข้างดำ ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๐.๗-๑.๔ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๖-๑๑ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๙-๔๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มแคบ อาจเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๔ ซม. ลิ้นใบรูปขอบขนาน ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายมนกลม มีขนสั้นหนาแน่น กาบใบค่อนข้างหนาและอวบน้ำ ยาวได้ถึง ๑.๔ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น ยาว ๒๐-๓๐ ซม. มีใบประดับ ๑๐-๑๗ ใบ แต่ละซอกใบประดับมี ๓-๕ ดอก
แต่ละช่ออาจมีดอกได้ถึง ๓๐ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓-๔ ซม. ช่อดอกย่อยคล้ายช่อเชิงลด ก้านช่อดอกย่อยสั้นหรือไร้ก้าน ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกสีเขียวถึงสีน้ำตาลอ่อน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายมน มีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง ม้วนเป็นหลอด ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๔-๔.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๓ หยัก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๖-๗.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแคบ ยาว ๓.๕-๔.๘ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูรูปลูกศร ยาวประมาณ ๕ มม.ก้านชูอับเรณูสีส้มอมแดง ยาว ๖-๗.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาวถึงสีขาวนวล รูปไข่แกมรูปลิ่ม กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. กลางกลีบแยกเป็นแฉกลึก อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปแถบแคบ ส่วนปลายกว้างกว่าส่วนโคน ยาวได้ถึง ๕ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วยขนาดเล็ก สีเขียว ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง รูปแถบ สีขาวนวล ยาวประมาณ ๓ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่
ผลแบบผลแห้งแตก สีเขียวอมเหลือง รูปกระสวย ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดสีน้ำตาลเข้มหรือสีค่อนข้างดำ รูปกระสวย มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ตาเหินสมุยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบอิงอาศัยหรือขึ้นบนหินใกล้โคนไม้ในป่าดิบชื้นและค่อนข้างร่มใกล้ลำธาร ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.