ตานเสี้ยนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๑ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา กิ่งแตกเป็นร่องตามยาว
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๒.๕-๔.๕ ซม. ไม่มีหูใบเทียม แกนกลางมีปีก กว้างประมาณ ๒.๕ มม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ๒ ครั้ง ออกตามซอกใบถึงซอกใบใกล้ยอดดูรวมกันหลายช่อคล้ายออกที่ยอด ก้านดอกสั้นมาก ดอกสีขาวอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๓ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ ไม่มีเกล็ดขนาดเท่ากับกลีบเลี้ยง จานฐานดอกรูปวงแหวน มีขนหยาบแข็ง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ เกสร เกลี้ยง ยื่นพ้นกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๘ มม. อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. รังไข่ลดรูป ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ไม่ยื่นพ้นกลีบดอกอับเรณูไม่แตก ไม่มีก้านรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนยาวประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี ยาว ๑.๓-๑.๖ มม. ผิวผลเรียบ เกลี้ยง ผนังผลบาง ไม่มีก้านผลเมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ตานเสี้ยนชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกของแอฟริกา อินเดีย และศรีลังกา ปัจจุบันนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อน ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นไม้ต้นที่มีใบคล้ายใบเฟิร์น.