ช้างแหกเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกมียางสีแดง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ ใบปลายรูปกลม รูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้าง ๖-๓๕ ซม. ยาว ๙.๕-๔๒.๕ ซม. ใบคู่ข้างรูปไข่ เบี้ยวกว้าง ๖-๓๐ ซม. ยาว ๙-๓๕ ซม. ปลายมน แหลม หรือเป็นติ่งแหลม โคนมน เว้าเล็กน้อย หรือรูปลิ่ม เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบยาว ๔.๒-๑๒ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกสีขาว มี ๕ กลีบ เป็นกลีบกลาง ๑ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๕.๕-๗ มม. โคนคอดคล้ายก้าน กลีบคู่ข้างรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๙-๑.๑ มม. ยาว ๔.๗-๕.๒ มม. กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันคล้ายรูปเรือกว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๔-๕.๓ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ที่สมบูรณ์ ๕ เกสร ที่เป็นหมัน ๕ เกสร ก้านรังไข่สั้นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปใบหอกกว้าง ๒.๘-๔ ซม. ยาว ๑๐.๕-๑๓.๗ ซม. โคนฝักโค้งไม่มีเมล็ด โป่งบริเวณปลายฝัก มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม เมล็ดเดียว แบนข้าง ติดบริเวณปลายฝัก
ช้างแหกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้พบตามป่าดิบชื้นหรือป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่เกาะชวา
มีรายงานว่าขนตามฝักแก่ทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง.