เครืองูเห่าเป็นไม้เถา กิ่งห้อยลง ต้นและกิ่งมีหนามแหลม
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. มีหนามแหลม มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่กลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ใบย่อยใบกลางใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้าง ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยัก แผ่นใบหนาและมีต่อมนํ้ามัน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยสั้นมาก
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและปลายกิ่งมีขนสั้น ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายถ้วยเล็ก ๆ ปลายหยักแหลม ๔-๕ หยัก กลีบดอก ๔-๕ กลีบ ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเรียวและสั้น มีรังไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียมีจานฐานดอก เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลดรูปเป็นเส้นสั้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผลแก่สีส้ม เปลือกมีต่อมนํ้ามัน เมล็ดรูปไต ขนาดเล็ก มี ๓-๗ เมล็ด
เครืองูเห่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นในป่าดิบ ป่าละเมาะ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ ยอด ใบอ่อน และช่อดอกกินได้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และมีรสขม พม่าใช้รากเป็นยาบำรุงกำลัง อินโดนีเซียใช้เปลือกเป็นยาบำรุงธาตุและแก้ไข้ ฟิลิปปินส์ใช้รากเป็นยาแก้ท้องเสีย รากมีแอลคาลอยด์ หลายชนิด เช่น toddaline, toddalinine และมี coumarins หลายชนิด เช่น toddanol.