ตาเหินภูหลวง

Hedychium phuluangense Picheans. et Wongsuwan

ชื่ออื่น ๆ
มหาหงส์ภูหลวง, หงส์เหิน (ทั่วไป)
ไม้ล้มลุกหลายปี อาจพบอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอห่าง มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าขนาดค่อนข้างใหญ่ อวบหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดินหรือเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดี่ยว มี ๗-๑๐ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกแคบ แต่ล่ะซอกใบประดับมี ๑ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยหรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มอมแดง

ตาเหินภูหลวงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี อาจพบอิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน มักพบแตกกอห่าง มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าขนาดค่อนข้างใหญ่ อวบหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดินหรือเหง้า สูง ๑-๑.๖ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๗-๑๐ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๔ ซม. ยาว ๔๐-๕๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบเห็นไม่ชัด ลิ้นใบสีเขียวถึงสีแดง เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง กาบใบสีเขียว ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๑-๒ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๑.๖ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๕-๑๐ ซม. เกลี้ยง ใบประดับที่โคนก้านช่อหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปคล้ายใบ ถัดขึ้นไปมีใบประดับจำนวนมากกระจายอยู่ห่าง ๆ สีเขียว รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๙-๑ ซม. ยาว ๓-๓.๒ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม มีขนสั้นกระจายห่าง


ใบประดับย่อยสีขาวอมเขียวอ่อน รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม โปร่งแสง แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒.๕-๒.๘ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๒-๓ หยัก มีขนสั้นกระจายห่าง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแคบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูสีส้มอมแดง ยาว ๓.๕-๔ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาว เมื่อใกล้ร่วงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โคนกลีบสีเหลืองและมีแต้มสีแดงเข้ม รูปหัวใจ กว้างประมาณ ๑.๖ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๖-๗ มม. อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปใบหอกกลับแคบ คล้ายมีก้านกลีบ กลีบกว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๓.๘-๕ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอกสั้น กว้างและยาว ๒-๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ยาว ๒-๓ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มอมแดง

 ตาเหินภูหลวงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวและพืชหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจพบอิงอาศัยหรือขึ้นบนหินในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเหินภูหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedychium phuluangense Picheans. et Wongsuwan
ชื่อสกุล
Hedychium
คำระบุชนิด
phuluangense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wongsuwan, Pornpimon
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wongsuwan, Pornpimon (fl. 2008)
ชื่ออื่น ๆ
มหาหงส์ภูหลวง, หงส์เหิน (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ