กระหมุดปลาไหลเป็นไม้เถา มียางขาว ยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือแหลม แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มและเกลี้ยง ด้านล่างสีขาวมีขนสีน้ำตาลโดยเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๔ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง
ช่อดอกเป็นช่อกระจุกหรือช่อกระจะแยกแขนง ออก ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาวขุ่น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๑ ใน ๔ ของกลีบดอก โคนติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนสีน้ำตาล กลีบดอกเรียวยาว มี ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ด้านในมีขนสีขาวเป็นปุย เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูติดกับผนังกลีบดอก อับเรณูประกบกันเป็นรูปกรวยคว่ำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แยกจากกัน แต่ละส่วนมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกกัน
ฝักรูปทรงกระบอก เมื่อแก่จะแตกออก มีเมล็ดเล็ก แบนจำนวนมาก ตอนปลายมีขนยาวละเอียดติดอยู่เป็นพู่
กระหมุดปลาไหลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในป่าดิบ ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลแก่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย.