เครือคางควาย

Dalbergia velutina Benth. var. velutina

ชื่ออื่น ๆ
เครือปี (เชียงใหม่); ตานขโมย (สุราษฎร์ธานี); หางไหล (ตราด)
ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๑๑-๑๕(-๑๙) ใบเรียงสลับ รูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตาม ๆ ซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวล ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานถึงรูปแถบเรียว เปลือกผลบางคล้ายเยื่อโปร่งแสง เมล็ดรูปไต สีน้ำตาล

เครือคางควายเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนยาว ๑๒-๒๐ ซม. ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. แกนกลางใบยาว ๕-๑๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น หูใบรูปแถบเรียวกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ร่วงง่ายใบย่อย ๑๑-๑๕ (-๑๙) ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๔-๓ ซม. ยาว ๓-๗.๕ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มกว้างถึงมนขอบเรียบ แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน พบน้อยมากที่ด้านบนเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๙ เส้น เห็นไม่ชัดก้านใบย่อยยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว (๓-)๔-๑๐ ซม. ใบประดับรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบปลายแหลม กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ติดทน ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. มีขนนุ่มหนาแน่น โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก เป็น ๕ แฉก แฉกคู่บนใหญ่กว่าแฉกอื่น ปลายมน แฉกล่าง ๓ แฉก ปลายแหลม แฉกล่างสุดยาวกว่าแฉกอื่น กลีบดอกสีขาวนวล กลีบกลางรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายหยัก กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมนกลีบคู่ล่างรูปจันทร์เสียวกว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมนเกสรเพศผู้ (๙-)๑๐ เกสร โคนก้านเชื่อมติดกันเป็นแผ่นก้านรังไข่มีขนรังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้ายและโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานถึง รูปแถบเรียว กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๕-๖.๕ ซม. เปลือกผลบางคล้ายเยื่อโปร่งแสง เกลี้ยง มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปไต กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๗-๒ ซม. สีน้ำตาล

 เครือคางควายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามบริเวณชายป่าและที่โล่งในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และบอร์เนียว

 ประโยชน์ รากใช้เป็นยาฆ่าแมลง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือคางควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia velutina Benth. var. velutina
ชื่ออื่น ๆ
เครือปี (เชียงใหม่); ตานขโมย (สุราษฎร์ธานี); หางไหล (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม