ตาเหินพะวอเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นบนหิน มักพบแตกเป็นกอค่อนข้างโปร่ง เหง้าค่อนข้างหนาและอวบ เกาะกันแน่น มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๐.๗-๑.๕ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๕-๘ ใบ รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๑๐-๑๓ ซม. ยาว ๔๐-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบจำนวนมากเรียงขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นหรือไร้ก้าน ลิ้นใบเป็นเยื่อบางและโปร่งแสง สีเขียว ส่วนครึ่งปลายมักมีสีน้ำตาลอมแดง รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๔-๑.๘ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ปลายมนหรือค่อนข้างแหลม มีขนประปราย กาบใบสีเขียว ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๒-๓ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๑.๕ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๒๕-๔๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑๗-๒๐ ซม. มีขน ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียว รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๔.๕-๖.๕ ซม. ปลายแหลม เรียงห่างกัน มีใบประดับ ๒๐-๒๖ ใบ ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ แต่ละซอกใบประดับมี ๒-๔ ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ ซม. ม้วนเป็นหลอด มีขนสั้นกระจายห่าง ใบประดับย่อยรูปไข่กว้างถึงรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๒-๓ หยัก กลีบดอกสีขาวถึงสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแคบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔.๒ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูสีเหลือง ยาว ๗-๙ มม. ก้านชูอับเรณูสีส้มอมแดง ยาวประมาณ ๕.๓ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาวอมเหลือง โคนกลีบสีเหลือง เมื่อใกล้ร่วงทั้งกลีบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง รูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓.๔-๓.๘ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๒-๒.๓ ซม. อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปใบหอกกลับแคบถึงรูปขอบขนานคล้ายมีก้านกลีบ กลีบกว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาว ๓-๔ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ติดอยู่เหนือรังไข่
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมกึ่งรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยกว้าง มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม
ตาเหินพะวอเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามหน้าผาหินปูน ที่ร่มรำไร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน.