ตาเหินป่าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นบนหิน แตกเป็นกอโปร่ง เหง้าค่อนข้างหนาและอวบ ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๐.๗-๑.๗ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๗-๒๐ ซม. ยาว ๓๕-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง สีเขียวอมแดงหรือสีแดงอมส้ม รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๔-๓ ซม. ยาว ๓-๔.๖ ซม. ปลายมนกลม กาบใบสีเขียวอมแดงหรือสีเขียวอมส้ม ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ ยาว ๐.๗-๑.๓ ม. มี ๒-๓ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอก กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๒๙ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๘ ซม. เกลี้ยง มีใบประดับ ๑๖-๒๖ ใบ แต่ละซอกใบประดับมี ๒-๗ ดอก ทยอยบานไปสู่ปลายช่อ ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกรูปขอบขนาน สีเขียว กว้าง ๑.๔-๒ ซม. ยาว ๔-๔.๕ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม เกลี้ยง ถัดขึ้นไปมีใบประดับบางคล้ายกระดาษ ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม เกลี้ยง ส่วนปลายอาจมีขน ใบที่อยู่ด้านล่างกว้าง ๑.๓-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ใบที่อยู่ด้านบนกว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๒ ซม. ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๔-๔.๕ ซม. ค่อนข้างบางใส ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ปลายสุดอาจหยักซี่ฟัน ๓ หยัก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๗.๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแคบ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๓.๕-๔.๖ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสรอับเรณูสีเหลืองนวลอมเขียว กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูยาว ๓.๒-๓.๔ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีขาว มีแถบสีแดงอมส้มใกล้โคน รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๒.๘ ซม. ยาวประมาณ ๔.๓ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๒.๒-๒.๕ ซม. โคนสอบเรียว อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง สีเหลืองอมส้ม รูปแถบถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๔.๒ ซม. ส่วนโคนสอบเรียวแคบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย สีขาว ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย สีเขียว ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง สีเหลือง กว้างและยาว ๒-๔ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมถึงทรงรูปไข่กว้าง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ตาเหินป่าเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามซอกหินปูนที่มีความชื้นสูงและค่อนข้างร่ม ตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
ตาเหินป่าอาจเป็นลูกผสมตามธรรมชาติของตาเหินดอย (Hedychium spicatum Buch.-Ham. ex Sm.) กับตาเหินหลวง (H. stenopetalum G. Lodd.).