ช้างสารซับมัน

Erycibe elliptilimba Merr. et Chun

ชื่ออื่น ๆ
ดังอีทก (นครราชสีมา); หนาวเดือนห้า (หนองคาย); โหรา (ปัตตานี)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยม มีริ้ว กิ่งอ่อนมีขนหยาบแข็งค่อนข้างหนาแน่น กิ่งแก่มีสันคอร์กเป็นแนวยาวใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีกว้างหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีขาวหรือสีเหลือง หลอดกลีบดอกสั้น แฉกกลีบดอกลึก แต่ละแฉกปลายหยักเว้าเป็นแฉกเล็กอีก ๒ แฉก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรี มีกลีบเลี้ยงติดทน สุกสีดำ มี ๑ เมล็ด

ช้างสารซับมันเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ยาวได้ถึง ๒๐ ม. โคนลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑๖ ซม. กิ่งเป็นเหลี่ยม มีริ้ว กิ่งอ่อนมีขนหยาบแข็งค่อนข้างหนาแน่น กิ่งแก่มีสันคอร์กเป็นแนวยาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีกว้างหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายมนกว้างหรือค่อนข้างแหลม ปลายสุดเรียวแหลมสั้น ๆ โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงเส้นกลางใบค่อนข้างนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๓-๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบ ๑-๓ ช่อ ยาว ๑.๕-๑๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีสนิมต่อมาร่วงหลุดไป ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๓-๔ มม. ติดทน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น และขนจะร่วงหลุดไปเมื่อเป็นผล กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลือง ยาว ๐.๙-๑.๓ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก ยาว ๐.๗-๑ ซม. แต่ละแฉกปลายหยักเว้าเป็นแฉกเล็กอีก ๒ แฉก รูปไข่กลับหรือรูปลิ่ม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. ขอบแฉกเว้าตื้น ๆ หรือหยักมนเล็กน้อย มีแถบกลางกลีบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่นแนบชิดกับแฉกกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ในหลอดดอก ก้านชูอับเรณูรูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาว ๐.๗-๑.๗ มม. โคนกว้าง ๐.๓-๐.๖ มม. อับเรณูรูปใบหอก ปลายเรียวแหลมโคนเว้ารูปหัวใจ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี ยาว ๑.๓-๑.๖ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย มีสัน ๕ สัน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เกลี้ยง สุกสีดำ ปลายผลมีรอยแผลสีอ่อนกว่า มี ๑ เมล็ด

 ช้างสารซับมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นป่าดิบแล้ง และป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้างสารซับมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Erycibe elliptilimba Merr. et Chun
ชื่อสกุล
Erycibe
คำระบุชนิด
elliptilimba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Merrill, Elmer Drew
- Chun, Woon Young
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Chun, Woon Young (1890-1971)
ชื่ออื่น ๆ
ดังอีทก (นครราชสีมา); หนาวเดือนห้า (หนองคาย); โหรา (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา