เข็มขาว

Vanda lilacina Teijsm. & Binn.

ชื่ออื่น ๆ
กล้วยไม้หางปลา (เลย), แฝก (เหนือ)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน เป็นร่องยาวตลอดใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีขาวอมม่วงอ่อน แผ่นปากสีม่วงแดง ม่วงอมฟ้าหรือขาว ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน มีเมล็ดจำนวนมาก

เข็มขาวเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ลำต้นกลม ยาว เมื่อเจริญเต็มที่สูง ๒๐ ซม. ขึ้นไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มีข้างละ ๕-๗ ใบ ใบหนาและอวบน้ำ รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. เป็นร่องยาวตลอดใบ ใบเหยียดตรงหรือโค้งเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ รูปทรงกระบอก ตั้งตรง ยาว ๑๕-๓๐ ซม. มี ๑-๓ ช่อ ก้านช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. ช่อดอกโปร่ง ช่อหนึ่งมี ๑๐-๒๐ ดอก ระยะระหว่างดอก ๑-๒ ซม. ดอกสีขาวอมม่วงอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒.๒-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. โคนกลีบดอกบิด ปลายกลีบกว้างกว่าโคนกลีบเล็กน้อย ปลายมน กลีบปากมี ๓ แฉก หูปากตั้งขึ้น ปลายโค้งเข้าหากัน กลีบปากซึ่งอยู่ด้านหน้าสีม่วงอ่อน ม่วงแดง หรือม่วงอมฟ้า บางต้นสีจางมาก หรือขาวปลอด ปลายปากโค้งลงด้านล่าง กลางปากมีสันนูน ๒ สันตามยาว เดือยดอกสั้น มีแต้มเล็ก ๆ สีเหลือง ๒ แต้มในคอปาก เส้าเกสรสั้น กลุ่มเรณูค่อนข้างกลม มี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีร่องโค้งค่อนข้างลึก ก้านกลุ่มเรณูรูปแถบ ฝาปิดกลุ่มเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลมาก ก้านดอกและรังไข่ยาว ๑.๕-๒ ซม.

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน ยาว ๒-๕ ซม.

 เข็มขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่จีน (มณฑลยูนนาน) พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vanda lilacina Teijsm. & Binn.
ชื่อสกุล
Vanda
คำระบุชนิด
lilacina
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Moore, Thomas
- Binnendijk, Simon
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Moore, Thomas (1821-1887)
- Binnendijk, Simon (1821-1883)
ชื่ออื่น ๆ
กล้วยไม้หางปลา (เลย), แฝก (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์