ชงโคชนิดนี่เป็นไม้เถา ลำต้นและกิ่งมีมือจับ โดยเฉพาะปลายมือจับมีขนสั้นนุ่มสีแดง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีแดง เมื่อแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน พบบ้างที่เรียงตรงข้ามบริเวณปลายกิ่ง รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม มีความกว้างมากกว่าความยาว กว้าง ๔.๓-๗.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๖ ซม. ปลายหยักมนเว้าลงมาตามเส้นกลางใบประมาณหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ โคนตัดถึงรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มประปราย เส้นโคนใบ ๗-๑๑ เส้น ก้านใบยาว ๑.๔-๔ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย หูใบรูปแถบ ยาว ๓-๔ มม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามยอด ยาว ๖-๑๐.๕ ซม. ก้านดอกเรียว ยาว ๑.๒-๒ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม. และมีใบประดับย่อยที่เหมือนใบประดับอยู่เกือบกึ่งกลางของก้านดอก ดอกตูมคล้ายรูปไข่เกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาลแดงประปราย ฐานดอกเป็นหลอดตรง ยาว ๐.๘-๒ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ
ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๗-๔.๘ ซม. ยาว ๑๑.๕-๑๘.๕ ซม. ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลอ่อนสีเขียวอ่อนแกมสีน้ำตาล ผลแก่สีน้ำตาลดำ เมล็ดทรงรูปไข่ แบน ยาว ๕-๘ มม. มี ๑๐-๒๕ เมล็ด
ชงโคชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.