งาขี้ม้อน

Perilla frutescens (L.) Britton

ชื่ออื่น ๆ
งามน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน); แง (กาญจนบุรี); นอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ไม้ล้มลุก ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนยาวสีขาวหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกรอบ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อนผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ๔ ผล ทรงรูปไข่กลับ สีน้ำตาลอมเทา มีลวดลายแบบร่างแห เมล็ดรูปคล้ายผล

งาขี้ม้อนเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๑.๕ ม. มักแตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนยาวสีขาวหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๒.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๓-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มน กลม หรือตัด ขอบจักฟันเลื่อยห่าง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง ๒ ด้าน และมักหนาแน่นตามเส้นใบ ด้านล่างมีต่อมกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๒-๕ ซม. มีขนยาวหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกรอบ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อตั้ง ยาว ๕-๒๐ ซม. มีดอกจำนวนมาก เรียงตรงข้าม ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ มม. ทั้งก้านช่อดอกแกนช่อดอก และก้านดอก มีขนยาวสีขาวหนาแน่น ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน ตั้งฉากกัน ใบประดับเรียงเป็น ๔ แถว เห็นได้ชัดที่ปลายช่อ ร่วงง่าย รูปไข่ กว้างได้ถึง ๓ มม. ยาวได้ถึง ๕ มม. ปลายเรียวแหลม กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาว ๑.๕-๒ มม. เมื่อเป็นผลยาว ๐.๕-๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมีแฉกสั้น ๓ แฉก ปลายแหลม ส่วนซีกล่างมี ๒ แฉก ปลายรูปลิ่มแคบ ยาวกว่าซีกบน หลอดกลีบเลี้ยงด้านในมีขนยาวสีขาวเรียงเป็นวงบริเวณปากหลอด ด้านนอกมีต่อมสีเหลืองประปรายและมีขนยาวสีขาวหนาแน่นรอบโคนหลอด ด้านหน้าโคนหลอดป่องออกเล็กน้อย กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๔ มม. โคนหลอดกลีบดอกรูประฆังแคบ ด้านนอกมีขน ด้านในมีขนเรียงเป็นวงหนาแน่นบริเวณปากหลอดปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบน มีแฉกสั้น ๒ แฉก รูปไข่ ส่วนซีกล่างมี ๓ แฉก แฉกข้าง ๒ แฉก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน แฉกกลางรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ มีขนาดใหญ่กว่าแฉกข้าง


ด้านในมีขน กลีบทั้ง ๕ กลีบ ด้านนอกมีขนสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ขนาดใกล้เคียงกัน โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก มีจานฐานดอกชัดเจน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ๔ ผล ทรงรูปไข่กลับ สีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ ๒ มม. เปลือกมีลวดลายแบบร่างแห เมล็ดรูปคล้ายผลงาขี้ม้อนเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงมกราคม และนำเข้าไปปลูกทั่วไปในเอเชียเขตร้อน

 ประโยชน์ ใบและยอดอ่อนมีกลิ่นหอม ใช้แต่งรสอาหาร มีสรรพคุณแก้ไอและหวัด เมล็ดใช้ปรุงอาหารกินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ท้องผูก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งาขี้ม้อน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Perilla frutescens (L.) Britton
ชื่อสกุล
Perilla
คำระบุชนิด
frutescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Britton, Nathaniel Lord
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Britton, Nathaniel Lord (1859-1934)
ชื่ออื่น ๆ
งามน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน); แง (กาญจนบุรี); นอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี