ครอบจักรวาลชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒.๕ ม. มีขนรูปดาวและขนต่อม
ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง รูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. มักเป็นเหลี่ยมหรือเป็นแฉกตื้น ๓-๕ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมโคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันถึงจักฟันเลื่อย เส้นโคนใบมี ๕-๗ เส้น นูนทางด้านล่าง มีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๔-๑๔ ซม. หูใบรูปแถบถึงรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ยอด ใบที่อยู่ใกล้ยอดลดรูปดูคล้ายช่อกระจะ ก้านดอกยาวประมาณ ๓.๕ ซม. มีข้ออยู่เหนือกึ่งกลางก้าน ดอกมีริ้วประคับรองรับ ริ้วประดับรูปแถบ มี ๖-๑๒ แฉก กว้าง ประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนประปรายกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ขอบเรียบด้านนอกมีขนต่อม ด้านในค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกสีเหลืองมะนาว กลางดอกสีม่วงเข้ม เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ ซม. มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๔.๕-๕ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดเส้าเกสร ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายหลอดมี ๕ หยัก มีขนต่อม ก้านชูอับเรณูสีม่วงแยกเป็นอิสระ เรียวเล็ก ยาว ๓-๔ มม. อับเรณูสีม่วงจำนวนมากติดทั่วหลอดเส้าเกสร อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดเส้าเกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปห้าเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดเส้าเกสร ปลายแยก ๕ แขนง สีม่วงและมีขนต่อม ยอดเกสรเพศเมีย ๕ ยอด เป็นตุ่มกลม สีม่วง และมีขนต่อม
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลมแป้นเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. มีปีกบาง ๕ ปีก แต่ละพูมีเมล็ด ๒-๖ เมล็ด เมล็ดรูปไต ยาวประมาณ ๓ มม. ผิวเป็นตุ่ม ไม่มีขน
ครอบจักรวาลชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบขึ้นตามป่าโปร่ง ตามชายป่าที่โล่งแจ้ง และที่รกร้าง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม.ในต่างประเทศ พบบริเวณเขตร้อนของแอฟริกาและเอเชีย
ประโยชน์ รากใช้ฆ่าเหา.