ขมิ้นต้นชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๐ ม. เส้นรอบวงยาวได้ถึง ๑ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีช่องอากาศสีเหลืองอ่อนประปราย เนื้อไม้สีเหลือง สีเหลืองอมน้ำตาล อาจมีสีส้มแกมแดงหรือสีขาว เปลือกสีน้ำตาลอ่อนมักแตกเป็นสะเก็ด ห้อยลง เปลือกในสีเหลืองสดถึงสีส้ม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายโค้ง อาจเชื่อมติดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. เป็นร่องทางด้านบน หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๓ มม. ร่วงเร็ว เหลือรอยแผลแคบ ๆ ระหว่างโคนก้านใบ พอสังเกตเห็นได้ตามกิ่งอ่อน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ทั้งช่อกว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๖.๕-๒๐ ซม. ก้านช่อย่อยยาว ๑.๕-๓ ซม. ช่อย่อยรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ รูปกรวยแคบอัดแน่นจำนวนมากกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวเท่ากับแฉกกลีบเลี้ยงหรือสั้นกว่าเล็กน้อย เรียงสลับกับแฉกกลีบเลี้ยงกลีบร่วงเร็ว เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดสลับกับแฉกกลีบเลี้ยงรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายกระบอง
ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับแกมรูปกรวยยาวประมาณ ๑.๕ มม. เป็นสันตามยาว ๔ สัน เรียงอัดแน่นบนแกนช่อผลเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. เมล็ดเล็ก รูปพีระมิด ไม่มีปีก
ขมิ้นต้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พบตามป่าเบญจพรรณชื้นป่าดิบ ใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ต่อเรือ ทำสิ่งปลูกสร้างในร่มทำท่อระบายน้ำ เปลือกใช้ย้อมผ้า ในไทยและอินโดนีเซียใช้เป็นสมุนไพร.