ตานฟักชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย สูง ๑-๒.๕ ม. มีขนสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกลมถึงรูปไต กว้าง ๖-๒๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายมนกว้างหรือเว้าตื้น โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น เมื่อแก่เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น มีต่อมสีเข้ม ๒ ต่อม เห็นชัดที่โคนเส้นกลางใบ ก้านใบยาว ๓-๑๒.๕ ซม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มีดอก ๓-๑๐ ดอก ใบประดับคล้ายใบ ใบประดับย่อยรูปแถบยาว ๔-๕ มม. ร่วงง่าย ดอกสีขาว บานกลางคืน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ขนาดเกือบเท่ากัน กว้าง ๘-๙ มม. ยาว ๑.๔-๑.๗ ซม. ปลายมน มนกว้าง หรือเว้าตื้น กลีบเลี้ยงวงนอก ๓ กลีบ มีขนราบไปตามผิวด้านนอกของกลีบขอบเกลี้ยง กลีบเลี้ยงวงใน ๒ กลีบ เกลี้ยง ค่อนข้างแข็ง ปลายโค้งออก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๕ ซม. ปลายแผ่กางออกตั้งฉากกับหลอดกลีบดอก ขอบค่อนข้างเรียบหรือเว้าเป็นแฉกตื้นมาก กลีบสีขาว ด้านนอกของแถบกลางกลีบสีขาวอมเขียว มีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ ซม. ติดที่กลางหลอดดอกหรือต่ำกว่า อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปแถบยาวประมาณ ๗ มม. จานฐานดอกรูปถ้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาวประมาณ ๔ มม.
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. สีน้ำตาลเข้มเป็นมัน เกลี้ยงผนังผลชั้นนอกหนาและแข็ง ชั้นในเป็นเส้นใย มีกลีบเลี้ยงติดทน ค่อนข้างแข็ง ปลายโค้งออก เมล็ดสีน้ำตาล รูปทรงรี กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๗-๙ มม. มี ๑-๔ เมล็ด
ตานฟักชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามป่า ที่โล่ง ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย เมียนมา และลาว.