ช้างโน้มเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๔๐ ซม. กิ่งอ่อนบางครั้งทอดเลื้อย เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่ถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๖-๓๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม บางครั้งอาจพบปลายมน โคนสอบถึงสอบเรียว ขอบกึ่งเรียบถึงหยักซี่ฟันถี่ละเอียด แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบเรียงขนานถี่ เห็นไม่ชัดเจนบริเวณใกล้ขอบใบมีเส้นขอบในเห็นชัดเจน เส้นใบย่อยแบบร่างแหละเอียด ก้านใบยาว ๒.๕-๗.๕ มม. เกลี้ยง หูใบขนาดเล็ก อยู่ในซอกก้านใบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมขอบหยักซี่ฟันถี่ ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ ซม. เกลี้ยง แกนกลางช่อดอกยาว ๒.๕-๓๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก มีดอกหนาแน่นตั้งแต่ ๑-๗ ดอก หรือมากกว่า ก้านดอกรูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๕-๘ มม. เกลี้ยง เป็นข้อที่โคน ฐานดอกนูน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ มม. สูง ๐.๗-๑ มม. ใบประดับ ๒-๓ ใบ อยู่บริเวณโคนก้านช่อดอก รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ปลายเรียวแหลมขอบหยักซี่ฟันถี่ เกลี้ยง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีชมพูเรื่อรูปไข่ถึงรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายกลีบแหลมถึงมน บางครั้งอาจพบปลายกลม ขอบเรียบ เกลี้ยง เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม ขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับเบี้ยวถึงรูปช้อนกว้าง กว้าง ๒.๕-๖ มม. ยาว ๔.๕-๘ มม. ปลายมนกลมหรือตัด ขอบเรียบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง ส่วนใหญ่มักมีสีเหลือง บางครั้งอาจพบสีขาวนวลหรือสีขาว เรียงบิดเวียนในดอกตูมร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เรียงเป็นวง ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูโค้ง กว้าง ๐.๕-๐.๘ มม. ยาว ๒.๕-๖ มม. แตกเป็นรูที่ปลาย ๒ รู ก้านชูเกสรเพศเมีย รูปทรงกระบอกสั้น เป็นสัน ๕ สัน ติดทน บางครั้งอาจเปลี่ยนเป็นรูปกึ่งกลมเมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ รังไข่ แยกจากกันเฉพาะส่วนที่เป็นรังไข่แต่ละรังไข่รูปไข่กลับ โค้ง กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม.
ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๑-๕ ผล สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มหรือเกือบดำ กว้างได้ถึง ๘ มม. ยาวได้ถึง ๑ ซม. ฐานผลนูน สูงได้ถึง ๕ มม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๕ มม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านช่อผลยาวได้ถึง ๑ ซม. เมล็ดรูปเคียว กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ เมล็ด
ช้างโน้มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าทุกประเภทบนดินที่มีซากพืชเน่าเปื่อยทับถมกัน ดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุมาก ดินทราย หรือดินปนหิน ตามพื้นราบถึงที่ลาดชัน หรือพบตามริมฝั่งแม่น้ำ และตามหน้าผาใกล้ทะเล ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบทางตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา ไหหลำ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ รากและใบมีรสขม ทางตอนใต้ของอินเดีย ใช้ต้มหรือเคี่ยวเป็นยาแก้ปวดท้อง ในกัมพูชาใช้กิ่งอ่อนแก้ปวดฟัน.