ข้าวก่ำผา

Didymocarpus biserratus Barnett

ไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีขนหยาบแข็ง ใบเรียงตรงข้าม ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีม่วงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดมีมาก

ข้าวก่ำผาเป็นไม้ล้มลุก อวบน้ำ สูงได้ถึง ๒๔ ซม. มีขนหยาบแข็ง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม คู่ใบมีขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่ค่อนข้างกว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๓-๘.๓ ซม. ปลายมน โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยสองชั้น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวอมน้ำตาล มีขนสีขาวหนาแน่น ด้านล่างเกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๖ เส้น นูนเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง ๑๑ ซม. มีขนหยาบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ แต่ละช่อส่วนมากมี ๒ ดอก ก้านช่อยาวได้ถึง ๘ ซม. มีใบประดับรูปครึ่งทรงกลมกว้าง ไม่มีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายมีแฉกแหลมหรือมน ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกสีม่วงเข้ม ยาวประมาณ ๔ ซม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบปาก กลีบปากบนมี ๒ แฉก กลีบปากล่าง ๓ แฉก และยาวกว่ากลีบปากบน เกสรเพศผู้ ๔ อัน ติดอยู่ที่โคนหลอดดอก เป็นเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๒ อัน ก้านชูอับเรณูเล็ก ยาวประมาณ ๒ ซม. โค้งเข้าหากัน อับเรณูทั้งคู่แบนและชิดกัน เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๒ อัน คล้ายเส้นด้าย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๙ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยาวประมาณ ๒ ซม. ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นติดแบบก้นปิด มีปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามผิว

 ผลแบบผลแห้งแตก มีเมล็ดมาก

 ข้าวก่ำผาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบที่ภูกระดึง จังหวัดเลย บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๓๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวก่ำผา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Didymocarpus biserratus Barnett
ชื่อสกุล
Didymocarpus
คำระบุชนิด
biserratus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1890-1970)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์