กระวานเทศ

Elettaria cardamomum (L.) Maton

ชื่ออื่น ๆ
ลูกเอ็น, ลูกเอ็ล, เอล, เอลา (กลาง)
ไม้ล้มลุก เหง้าทอดไปตามดิน ใบรูปขอบขนาน กาบใบหุ้มซ้อนเป็นลำต้นเทียม ช่อดอกออกจากเหง้า มีใบประดับเรียงสลับ ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน ออกเหนือใบประดับ ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย มี ๓ พู

กระวานเทศเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า มีอายุยืนหลายปี

 ใบเดี่ยว รูปยาวรีคล้ายใบหอก กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๓๐-๙๐ ซม. ก้านใบเป็นกาบซ้อนกันดูคล้ายลำต้น สูง ๑.๕-๕ ม.

 ช่อดอกออกจากเหง้า ยาว ๑-๑.๕ ม. เอนราบลงบน พื้นดิน มีใบประดับเรียงสลับ ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ใบประดับรูปใบหอก เรียงสลับเป็นระยะ มี ๒-๓ ดอก ในแต่ละซอกใบประดับ กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเป็นจักสั้น ๒-๓ จัก กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอดยาวใกล้เคียงกับหลอดกลีบเลี้ยง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกยาว ๑-๒ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นรูปไข่กลับ สีขาว มีขีดสีม่วง ปลายหยักมน ๓ หยักตื้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก สีเขียวอ่อนถึงเหลือง รูปกระสวยหรือรูปไข่ปลายแหลม มี ๓ พู สุกไม่พร้อมกัน มี ๑๕-๒๐ เมล็ด สีดำปนน้ำตาล รูปสามเหลี่ยม เปลือกแข็งและมีรอยย่นมีเยื่อหุ้ม

 กระวานเทศมีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนใต้และศรีลังกาขึ้นในป่าดิบเขา มีผลตลอดปี ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นระยะที่ให้ผลมาก ปัจจุบันได้นำเข้ามาปลูกที่ดอยมูเซอ จ.ตาก ขึ้นได้ดี

 นิยมเก็บผลกระวานเทศก่อนที่จะสุก เพราะถ้าปล่อย ให้สุกผลจะแตก นำมาผึ่งให้แห้งกลางแจ้งหรือในโรงบ่ม ถ้าทำให้แห้งโดยเร็วจะทำให้ผลแตก บางครั้งจะพรมน้ำลงไปที่ผลก่อนแล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แดดช่วยฟอกสี แต่มีข้อเสียคือแสงแดดทำให้ผลแตกเมล็ดกระจาย จึงมักรมด้วยควันกำมะถัน ปัจจุบันไม่นิยมผลชนิดที่ฟอกสี (Trease and Evans, 1972)

 ผลกระวานเทศประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่ายประมาณร้อยละ ๑๐ โปรตีนร้อยละ ๑๐ น้ำมันระเหยยากร้อยละ ๑๐ แป้งร้อยละ ๒๐-๔๐ แมงกานีส และเหล็กเล็กน้อย

 น้ำมันระเหยง่ายมี a-terpinyl acetate และ 1,8-cineol เป็นสารหลัก สารทั้งสองอาจมีได้ถึงร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่า สารที่พบในปริมาณน้อย ได้แก่ limonene, Sabinene, linalol, linalyl acetate, a-pinene, a-terpineol และสารอื่น ๆ อีก ส่วนประกอบของน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งที่มาของผลกระวานเทศ น้ำมันที่มีปริมาณของ cineol ต่ำ แต่มี a-terpinyl acetate สูง เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี (Leung, 1980)

 ผลกระวานเทศใช้เป็นส่วนประกอบในยาขับลมและยาธาตุ ใช้ป้องกันอาการใซ้ท้องในยาระบาย น้ำมันกระวานเทศใช้แต่งกลิ่นยา สบู่ สารชะล้าง ครีม น้ำยาทาผิว ฯลฯ

 ในอินเดียและจีนใช้ผลกระวานเทศเป็นยาขับลมมาหลายศตวรรษแล้ว เนื่องจากผลกระวานเทศมีกลิ่นหอม จึงนำมาใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น แกงเผ็ด ขนมเค้ก แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม ในตะวันออกกลางใช้ผลกระวาน เทศแต่งกลิ่นชาและกาแฟ (Leung, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระวานเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Elettaria cardamomum (L.) Maton
ชื่อสกุล
Elettaria
คำระบุชนิด
cardamomum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Maton, William George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Maton, William George (1774-1835)
ชื่ออื่น ๆ
ลูกเอ็น, ลูกเอ็ล, เอล, เอลา (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.พยอม ตันติวัฒน์