เครือเขาปู้ชนิดนี้เป็นไม้เถา ผลัดใบ ลำต้นพันขึ้นไปถึงเรือนยอดของไม้ต้น กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาล
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ ก้านใบยาว ๑๐-๒๕ ซม. หูใบรูปขอบขนานปลายแหลม โคนยื่นย้อยลงเป็นติ่งแหลม ยาว ๐.๘-๒ ซม. ใบย่อยใบกลางรูปไข่ กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ มีขนทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขนมากกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น ใบย่อยคู่ข้างเรียงตรงข้าม ลักษณะคล้ายใบย่อยใบกลางแต่เบี้ยว หูใบย่อยเรียวแหลมยาว ๐.๕-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๕๐ ซม. ใบประดับเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาว ๑.๘-๒ ซม. ออกหลังจากผลัดใบ ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ใบประดับย่อยรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑๐ ซม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ สีน้ำเงินหรือสีม่วงแกมน้ำเงิน กลีบกลางรูปโล่ ปลายหยักเว้าเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๑.๘ ซม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็น ๒ กลุ่ม มี ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ ส่วนอีก ๙ เกสร โคนก้านติดเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานแคบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๘(-๑๐) เม็ด มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. เมล็ดรูปไต กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๔-๘(-๑๐) เมล็ด
เครือเขาปู้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ และตามป่าเขาหินปูนที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และลาว.