ตานฟัก ๒

Crotalaria lejoloba Bartl.

ชื่ออื่น ๆ
พวนดอย (เหนือ); หมากขิ่งหนู (แม่ฮ่องสอน)
ไม้ล้มลุก กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก มีขนสั้นนุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปรี หูใบรูปสามเหลี่ยม ติดทน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบหรือตรงข้ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง ผลแบบแห้งแตกสองแนว เป็นฝักคล้ายรูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่กลับ พอง สุกสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลอมดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดแห้งบริเวณขั้วเมล็ด

ตานฟักชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก สูง ๐.๕-๑.๕ ม. พบน้อยที่สูงประมาณ ๑๐ ซม. กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก มีขนสั้นนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปรี กว้าง ๐.๕-๕ ซม. ยาว ๐.๘-๑๑ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ก้านใบยาว ๒-๖ มม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๕-๓ มม. ยาว ๓-๙ มม. ติดทน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบหรือตรงข้ามใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๒.๕-๑๗ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๑๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านดอกยาว ๒.๕-๕ มม. ใบประดับติดทน รูปใบหอก กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๔-๗ มม. ใบประดับย่อยติดที่โคนกลีบเลี้ยง รูปใบหอกยาว ๓-๗ มม. ติดทน ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังหรือรูปถ้วย ยาว ๑-๔ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปรีกว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายมน โคนตัดหรือมน ขอบเรียบ ก้านกลีบยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายมนโคนเบี้ยว ขอบเรียบ ก้านกลีบยาว ๑.๕-๒.๘ มม. กลีบคู่ล่างรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายเรียวแหลม มีจะงอยบิด โคนรูปลิ่ม ขอบมีขนสั้นนุ่ม ก้านกลีบยาว ๑.๕-๒ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยก ยาวไม่เท่ากัน สั้นและยาวเรียงสลับกัน ยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. อับเรณูสีเหลืองมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ ๕ อัน รูปแถบ ยาว ๑.๕-๒.๒ มม. ติดอยู่กับก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูขนาดเล็ก ๕ อัน รูปรี ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. ติดอยู่กับก้านชูอับเรณูยาว ก้านรังไข่ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๓-๔ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๗-๙ มม. มีขนสั้นนุ่มเรียงแถวเดียวที่ปลายก้านด้านใน ด้านนอกเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบแห้งแตกสองแนว เป็นฝักคล้ายรูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่กลับ พอง กว้าง ๐.๖-๐.๘ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๗ ซม. มีก้านยาว ๑-๓ มม. ผลสุกสีน้ำตาลอมดำ ผิวเกลี้ยง เมล็ดรูปไต กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๘-๓ มม. สีน้ำตาลอมดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดแห้งบริเวณขั้วเมล็ด

 ตานฟักชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นบริเวณพื้นที่เปิดโล่งในป่าเต็งรังป่าเบญจพรรณ ป่าสน และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานฟัก ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crotalaria lejoloba Bartl.
ชื่อสกุล
Crotalaria
คำระบุชนิด
lejoloba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bartling, Friedrich Gottlieb
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1798-1875)
ชื่ออื่น ๆ
พวนดอย (เหนือ); หมากขิ่งหนู (แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ศกุลตลา นิลแก้ว