กระวานเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า กาบใบหุ้มซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สูง ๑.๕-๒ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๕-๒๕(-๕๐) ซม. ปลายแหลม
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน รูปทรงกระบอก ยาว ๖-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๑๕ ซม. ใบประดับสีเหลืองนวล มีขนคาย เรียงซ้อนสลับกันตลอดช่อในซอกใบประดับมีดอก ๑-๓ ดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายมี ๓ หยัก กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรเพศผู้เป็นหมันแปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่ สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลาง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๘ มม. อับเรณูรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแกนอับเรณูเป็น ๓ ปีก ปีกกลางมันยาวประมาณ ๒ มม. ปีกข้างรูปสี่เหลี่ยม ปลายมนหรือตัด กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก
ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม สีนวล มี ๓ พู ผลอ่อนมีขนและจะร่วงไปเมื่อแก่ มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมากเมล็ดอ่อนสีขาว มีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอม
ผลกระวานมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร มีพิมเสนร้อยละ ๒๒.๕ เมื่อนำน้ำมันหอม ๘๐๐ กรัม มาปั่นแยกจะได้ส่วนที่เป็นของแข็งหนัก ๑๐๐ กรัม ซึ่งประกอบด้วย (+)-borneol และ (+)-camphor อย่างละเท่า ๆ กัน
หน่อและช่อดอกอ่อนกินได้ ผลกระวานใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด และใช้แต่งกลิ่นเหล้า ในทางยาใช้เป็นยาขับลม เป็นส่วนผสมในยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการใช้ท้อง
กระวานเป็นพืชแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นในที่ร่มที่มีความชื้นสูงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ในประเทศไทยพบในป่า แถบเขาสอยดาว จ.จันทบุรี และทางตอนใต้ของ อ. อุ้มผาง จ. ตาก ลงไปถึงภาคใต้ กระวานจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗.