ตานฟักชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เถายาวประมาณ ๔ ม. หรือยาวมากกว่า เมื่ออ่อนมีขนสีขาว ค่อนข้างเกลี้ยงเมื่อแก่
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๑๕.๕ ซม. ยาว ๗-๑๙ ซม. ปลายมน ปลายสุดแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ
ช่อดอกแบบช่อกระจุก โปร่ง ตั้งขึ้นหรือห้อยลงออกตามซอกใบ แยกเป็น ๒ แฉก มีดอกประมาณ ๕ ดอก ถึงจำนวนมาก ก้านช่อยาว ๖-๑๓ ซม. มีขนละเอียดใบประดับล่างสุดคล้ายใบ รูปกลมแกมรูปไข่ กว้าง ๓.๘-๖ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ก้านมีขนอุยสีเงิน ติดทน ใบประดับอื่น ๆ และใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานกว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. ร่วงง่าย ดอกสีม่วงอ่อนภายในหลอดกลีบดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยงวงนอก ๓ กลีบ รูปรี กว้าง ๐.๘-๑.๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนอุยหนาแน่น ด้านในมีขนประปราย กลีบเลี้ยงวงใน ๒ กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว ๗-๘ มม. ปลายเรียวแหลม กลางกลีบมีขนอุยสีขาว ขอบกลีบเรียบ กลีบดอกบอบบาง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๕-๖.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก ด้านนอกของแกนกลางกลีบมีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากันยาว ๑.๖-๒.๔ ซม. ติดที่โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูกว้างกว่าปลายและมีขน จานฐานดอกรูปวงแหวนยาวประมาณ ๐.๕ มม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้ายอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมกว้าง ๑.๓-๑.๕ ซม. สีเหลืองหรือสีค่อนข้างดำ เนื้อนุ่มมีกลีบเลี้ยงติดทนคล้ายรูปถ้วย ปลายโค้งออกรองรับผลเมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เกลี้ยง มี ๔ เมล็ด
ตานฟักชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และตามไหล่เขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย ภูฏาน และเมียนมา.