ช้างดำเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด รากออกเป็นกระจุกใกล้โคนต้น มักเกาะแนบไปกับต้นไม้ที่อาศัย ต้นค่อนข้างสั้น มีใบปกคลุม
ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ปลายเว้าลึกเป็นแฉกมน ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนพับเข้าหากันและหุ้มต้น แผ่นใบอวบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวเข้ม ไม่เห็นเส้นใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนง ออกตรงข้ามกับใบ แต่ละต้นมี ๒-๕ ช่อ ช่อดอกยาว ๗-๑๒ ซม. ก้านและแกนช่ออวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายช่อเรียว ดอกสีเหลืองอ่อน โคนกลีบสีชมพู เรียงเวียนค่อนข้างแน่นรอบแกนช่อ ทยอยบานเป็นเวลานานกว่า ๑ สัปดาห์ ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๓ มม. ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๓-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมนกลม กลีบด้านข้างมักมีจุดประสีชมพู รูปไข่ เบี้ยวเล็กน้อยกว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีสันตามยาว เมล็ดขนาดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก
ช้างดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ลาว เวียดนามและภูมิภาคมาเลเซีย.