ช้างงาเอกเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม เปลือกเรียบเมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม มักมีช่องอากาศเปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน ทุกส่วนมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ตายอดอยู่ในซอกก้านใบที่ปลายกิ่ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปไข่ รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๓-๗.๕ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม แข็ง โคนเว้ากึ่งรูปหัวใจ ขอบหนา เรียบ และเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ช่วงปลายพับหากันคล้ายรางน้ำหรือรูปตัววี มักบิดและโค้งลง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๐ เส้น ปลายโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบเป็นเส้นขอบใน เส้นใบย่อย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามซอกใบที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบที่ใบร่วงแล้ว ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีชมพูหรือสีชมพูอมเหลืองอ่อน ดอกบานสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ ซม. ก้านดอกสั้น ใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๐.๒-๑ ซม. ค่อนข้างหนา กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากค่อนข้างหนา กลีบเลี้ยงรูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๓-๖ มม. เป็นแอ่ง กลีบดอกรูปไข่กลับกว้าง กว้าง ๓.๕-๗ มม. ยาว ๕.๕-๘.๕ มม. ปลายโค้งออกทางด้านนอก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมากเชื่อมติดกันเป็น ๔ กลุ่ม ก้านชูอับเรณูสั้น โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก อับเรณูสั้น มี ๒ พู ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ยาว ๕-๗ มม. มี ๔-๖ พู เห็นชัด ผลดิบสีเขียว สุกสีแดง มีกลีบเลี้ยงและยอดเกสรเพศเมียติดทน มี ๔-๖ เมล็ด เปลือกเมล็ดมีเยื่อหุ้ม อาจมีเมล็ดฝ่อ
ช้างงาเอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบแล้งและชายป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๒๕๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน มักติดผลมากในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศคาดว่าพบที่ลาว.