จำปาป่า ๓

Magnolia siamensis (Dandy) H. Keng

ชื่ออื่น ๆ
ปูนใหญ่ (ใต้); ยี่หุบปรี, ยี่หุบปลี (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้ต้น เปลือกหนา สีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นฉุนแตกกิ่งน้อย กิ่งยาวลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตลอดความยาวก้าน ร่วงง่าย มีรอยแผลของหูใบบนก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกที่ยอด กลิ่นหอมแรง กลีบรวมสีขาวนวล ผลแบบผลกลุ่ม เปลือกผลเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมรี ปลายผลย่อยมีจะงอยแหลมยาวชี้ออก เมื่อแก่เปลือกจะหลุดออกจากกัน เมล็ดติดอยู่กับแกนกลางผลช่องละ ๒ เมล็ด รูปทรงกลมรี สีแดงเข้ม

จำปาป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๕๐ ซม. เปลือกหนา สีน้ำตาลเข้มมีช่องอากาศเป็นตุ่มนูนสีขาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว แตกกิ่งน้อย กิ่งยาวลู่ลง ทรงพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๘.๕-๑๒ ซม. ยาว ๒๑-๓๓ ซม. ปลายแหลมหรือมนและมีติ่งแหลมสั้น โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเป็นคลื่น


แผ่นใบหนาและแข็ง สีเขียวเข้มเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๙ เส้น เป็นร่องตื้นทางด้านบนและเป็นสันนูนทางด้านล่าง ปลายเส้นเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๒.๓-๖ ซม. เกลี้ยง โคนก้านป่อง หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตลอดความยาวก้านร่วงง่าย มีรอยแผลของหูใบบนก้านใบ

 ดอกเดี่ยว ออกที่ยอด กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๑-๓ กาบ เกลี้ยง ก้านดอกอวบ ยาว ๒-๓.๕ ซม. มี ๕-๗ ข้อ และมีขนนุ่ม กลีบรวม ๙ กลีบ สีขาวนวลลักษณะคล้ายกัน เรียงเป็น ๓ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบอวบหนา กลีบชั้นนอกสีขาวอมเขียว รูปไข่กลับกว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. กลีบชั้นในสีขาว รูปช้อนเรียวแคบและสั้นกว่าชั้นนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. ก้านชูอับเรณูสั้นมากอับเรณูหันเข้าด้านใน เรียงเป็นวงล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๗-๒๕ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกเป็นรูปทรงกระบอก แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง

 ผลแบบผลกลุ่ม เปลือกผลเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมรี กว้าง ๓-๔.๕ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. เมื่อผลแก่เปลือกจะหลุดออกจากกัน ก้านช่อผลอวบ ยาว ๒.๕-๔ ซม. มีรอยแผลของกลีบรวมและเกสรเพศผู้เป็นช่วงยาวประมาณ ๐.๕ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียวมี ๗-๑๕ ผล ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีช่องอากาศเป็นจุดประสีขาว ปลายผลย่อยมีจะงอยแหลมยาวชี้ออก เมล็ดติดอยู่กับแกนกลางผลช่องละ ๒ เมล็ด รูปทรงกลมรี ยาว ๑-๑.๒ ซม. สีแดงเข้ม

 จำปาป่าชนิดนี้เป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นและริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ผลแก่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จำปาป่า ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia siamensis (Dandy) H. Keng
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dandy, James Edgar
- Keng, Hsüan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Dandy, James Edgar (1903-1976)
- Keng, Hsüan (1923-2009)
ชื่ออื่น ๆ
ปูนใหญ่ (ใต้); ยี่หุบปรี, ยี่หุบปลี (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น