กระมอบ

Gardenia obtusifolia Roxb. ex Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กระบอก (สุโขทัย); ไข่เน่า (กาญจนบุรี); คมขวาน, พญาผ่าด้าม, พุดนา (กลาง); คำมอกน้อย (เชียงใหม่); ฝรั่
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ผลัดใบขณะออกดอก ยอดอ่อนผิวมันมีชันสีเขียวอมเหลือง ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ดอกใหญ่ สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ผลมีเนื้อ รูปกลม

กระมอบเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ผลัดใบขณะออกดอก สูง ๒-๘ ม. ลำต้นแคระแกร็น กิ่งก้านคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมเปลือกสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว เนื้อไม้สีขาวยอดอ่อนผิวมัน มีชนสีเขียวอมเหลือง

 ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากเป็นกลุ่มตามปลายกิ่งรูปไข่กลับ มี ๒-๔ คู่ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบมน เว้าเล็กน้อยตรงรอยต่อก้านใบขอบเรียบ ก้านใบสั้นมาก หูใบระหว่างก้านใบติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ใบอ่อนมีคราบของชั้นเหนียวตามผิวใบจนเป็นมัน

 ดอกใหญ่ ออกเดี่ยวที่ปลายกิ่ง สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. กลีบดอกตูมบิดเวียน โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปแจกัน ส่วนปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานปลายมน ยาว ๔-๗ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่บนหลอดดอก อับเรณูรูปกลม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดดอก ยอดเกสรเพศเมียขยายใหญ่

 ผลมีเนื้อ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓.๕ ซม. ผนังหนา สีน้ำตาลอมเขียว ส่วนบนของผลมีหลอดกลีบเลี้ยงสั้น ๆ ติดอยู่

 กระมอบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระมอบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gardenia obtusifolia Roxb. ex Kurz
ชื่อสกุล
Gardenia
คำระบุชนิด
obtusifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Kurz, Wilhelm Sulpiz (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระบอก (สุโขทัย); ไข่เน่า (กาญจนบุรี); คมขวาน, พญาผ่าด้าม, พุดนา (กลาง); คำมอกน้อย (เชียงใหม่); ฝรั่
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข