ตานทราย ๑

Actinostachys digitata (L.) Wall. ex C. F. Reed

ชื่ออื่น ๆ
ตานบิด (ชุมพร); หญ้าตานทราย (สุราษฎร์ธานี)
เฟิร์นขึ้นบนดิน ลำต้นสั้น มีขนหนาแน่น สีน้ำตาลเป็นมันวาว ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตั้งขึ้น รูปแถบแคบคล้ายใบหญ้า แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบเห็นเด่นชัด ปลายใบมีซอโรฟอร์หรือส่วนที่ยื่นออกมาชูอับสปอร์เกิดเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ กลุ่มอับสปอร์เรียงตัวเป็น ๒ แถวบนซอโรฟอร์

ตานทรายชนิดนี้เป็นเฟิร์นขึ้นบนดิน ลำต้นสั้นเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. มีขนหนาแน่น ขนมีลักษณะเป็นข้อ ยาว ๐.๕-๑ มม. สีน้ำตาลเป็นมันวาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกตั้งขึ้น รูปแถบแคบคล้ายใบหญ้า กว้าง ๒-๓.๕ มม. ยาว ๒๐-๓๕ ซม. บิดเป็นเกลียว ขอบเรียบ แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีปลายป้านหรือกลมมน สีเขียวหรือสีเขียวเข้ม เกลี้ยงเป็นมัน เส้นกลางใบเห็นเด่นชัด เป็นร่องทางด้านบน เป็นสันทางด้านล่างและมีขนต่อมทั่วไป ใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์สีเขียว ส่วนใกล้ปลายใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อซอโรฟอร์เจริญเต็มที่ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. สีน้ำตาล เกลี้ยง ตอนบนแผ่เป็นปีกเชื่อมกับโคนใบ

 ซอโรฟอร์หรือส่วนที่ยื่นออกมาชูอับสปอร์รูปคล้ายนิ้วมือ เกิดเป็นกลุ่มที่ปลายใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์แต่ละกลุ่มมีซอโรฟอร์ ๗-๒๐ อัน แต่ละอันกว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาวได้ถึง ๕ ซม. ขอบเรียบ เมื่อยังอ่อนสีเขียวแก่สีน้ำตาล กลุ่มอับสปอร์เรียงค่อนข้างชิดกันเป็น ๒ แถว บนซอโรฟอร์ อับสปอร์มีจำนวนมาก อาจมีเส้นแทรกเป็นขนสีน้ำตาลอ่อนปะปน

 ตานทรายชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ มักขึ้นตามพื้นดินในที่มีร่มเงาตามชายป่าหรือตามไหล่เขาที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาดากัสการ์ อินเดีย เมียนมาภูมิภาคอินโดจีน ตอนใต้ของจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และโปลินีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานทราย ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Actinostachys digitata (L.) Wall. ex C. F. Reed
ชื่อสกุล
Actinostachys
คำระบุชนิด
digitata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Wallich, Nathaniel
- Reed, Clyde Franklin
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Reed, Clyde Franklin (1918-1999)
ชื่ออื่น ๆ
ตานบิด (ชุมพร); หญ้าตานทราย (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สหณัฐ เพชรศรี และ ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด