ข้าวเม่านก

Tadehagi triquetrum (L.) Ohashi

ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่ว (กลาง); หญ้าคอตุง, มะแฮะนก (เหนือ); ขี้กะตืดแป, ขี้กะตืด (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ล้มลุก มีเหง้า กิ่งอ่อนเป็นสามเหลี่ยม ใบประกอบแต่ลดรูปเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ก้านใบเป็นครีบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนาน เมล็ดรูปไต

ข้าวเม่านกเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. มีเหง้าใต้ดิน กิ่งอ่อนเป็นสามเหลี่ยม มีขนสั้น

 ใบประกอบแต่ลดรูปเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนหยักเว้า มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ก้านใบเป็นครีบ กว้าง ๐.๒-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. หูใบเรียว รูปไข่ ปลายแหลม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. หูใบย่อยที่ปลายก้านเล็ก ปลายแหลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๘ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒-๕ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม เรียวปลายแหลม ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนรูปตะขอ กลีบดอก ๕ กลีบ สีม่วง กลีบกลางรูปโล่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุล ๕-๘ เม็ด

 ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขนรูปตะขอประปราย คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด ๕-๘ ข้อ หลุดออกจากกันเมื่อแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ข้อละ ๑ เมล็ด

 ข้าวเม่านกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวเม่านก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tadehagi triquetrum (L.) Ohashi
ชื่อสกุล
Tadehagi
คำระบุชนิด
triquetrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Ohashi, Hiro
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Ohashi, Hiro (1882- )
ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่ว (กลาง); หญ้าคอตุง, มะแฮะนก (เหนือ); ขี้กะตืดแป, ขี้กะตืด (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม