ตาเหินโกเมษ

Hedychium gomezianum Wall.

ชื่ออื่น ๆ
ขิงแห้ง
ไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัย เหง้าทรงรูปรีหรือทรงรูปไข่ ค่อนข้างหนาและอวบ เนื้อในมีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีแคบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกสั้นหรือรูปทรงค่อนข้างกลม แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ดอกบานพร้อมกันครั้งละหลายดอก ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง กลางวันมีกลิ่นหอมอ่อน กลางคืนอาจมีกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ คล้ายซากเน่าปน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวย มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

ตาเหินโกเมษเป็นไม้ล้มลุกหลายปี อิงอาศัย สูงได้ถึง ๑ ม. มักพบแตกกอห่าง มีเหง้าเจริญด้านข้าง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๒-๔.๕ ซม. ค่อนข้างหนาและอวบ เนื้อในมีกลิ่นหอมอ่อน มีรากแขนงออกจากส่วนโคนเหง้า กระจายห่าง ๆ ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือเหง้า สูง ๒๐-๙๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๕-๙ ใบ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีแคบ กว้าง ๕-๙ ซม. ยาว ๑๔-๓๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน ส่วนใกล้โคนเป็นร่องลึกไปถึงก้านใบ นูนชัดทางด้านล่าง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงค่อนข้างขนานกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบเห็นไม่ชัด ลิ้นใบสีเขียวหรือสีแดงและอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลม อาจเบี้ยว เฉียงไปด้านหนึ่ง เกลี้ยงหรืออาจมีขน เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง กาบใบสีเขียว ค่อนข้างหนาและอวบ มี ๑-๒ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๙๐ ซม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น รูปทรงกระบอกสั้นหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๕ ซม. มีใบประดับ ๑๘-๕๐ ใบ แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก ดอกบานพร้อมกันครั้งละหลายดอก ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียว รูปไข่กว้างหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๑-๓ ซม. ปลายมนหรือแหลม เกลี้ยงหรือมีขน ใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลือง กลางวันมีกลิ่นหอมอ่อน กลางคืนอาจมีกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ คล้ายซากเน่าปน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๓-๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้นคล้ายซี่ฟัน ๓ หยัก กลีบดอกสีเหลืองถึงสีเหลืองอมส้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางหลอด ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก สีขาวนวลถึงสีเหลือง แต่ละแฉกรูปแถบแคบ บิดและม้วนคล้ายหลอด กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓.๓-๓.๘ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์


มี ๑ เกสร อับเรณูสีส้มอมน้ำตาล กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านชูอับเรณูคล้ายเป็นหลอดแคบ กว้าง ๑.๓-๑.๕ มม. ยาว ๓.๖-๕ ซม. เป็นร่องแคบตรงกลางตลอดแนวยาว เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีเหลือง คล้ายรูปหัวใจ ส่วนโคนเป็นรูปแถบยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปแถบแคบหรือรูปคล้ายช้อนแคบ คล้ายแฉกกลีบดอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้านรูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๖.๕-๗ ซม. ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย สีเขียว ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ยาวประมาณ ๒ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง กว้างและยาวได้ถึง ๑ ซม. สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวย กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๑.๒-๑.๗ มม. มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม

 ตาเหินโกเมษมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบอิงอาศัยบนต้นไม้หรือตามข้อต้นไผ่ขนาดใหญ่ ตามป่าโปร่ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูฏาน เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเหินโกเมษ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedychium gomezianum Wall.
ชื่อสกุล
Hedychium
คำระบุชนิด
gomezianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
ชื่ออื่น ๆ
ขิงแห้ง
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ