ช้างงาเดียวเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งมีหนาม
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กว้าง ๒.๒-๕.๖ ซม. ยาว ๕.๕-๒๑.๗ ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งหรือมน โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไป เห็นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เห็นชัดเจนทางด้านบน ก้านใบยาว ๑.๘-๑๐ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๐.๖ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๘ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ยาว ๒.๕-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๔ แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง มี ๔ กลีบ รูปช้อน กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายกลีบมน มีขนประปรายทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๕-๗.๕ มม. เชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขนประปราย อับเรณูยาวประมาณ ๓ มม. ติดด้านหลังจานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเหลืองรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๒.๕ ซม. เมล็ดรูปไข่กว้าง มีเยื่อบางหุ้ม มี ๑-๔ เมล็ด
ช้างงาเดียวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้พบตามป่าดิบแล้งหรือป่าละเมาะใกล้ชายฝั่ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู.