จำปาป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๕ ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว มีช่องอากาศเป็นขีดยาวมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว แตกกิ่งในระดับสูง ทรงพุ่มกลมโปร่ง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลและมีช่องอากาศเป็นตุ่มนูน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม เมื่อแห้งติ่งแหลมปลายใบม้วนงอกลับ โคนรูปลิ่มถึงมนกลมขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ใบแก่แข็งและกรอบเส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๓ เส้น เป็นร่องตื้นทางด้านบน ปลายเส้นเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนค่อนข้างเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. มีขน หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบตั้งแต่ครึ่งหนึ่งจนถึงตลอดก้านร่วงง่าย มีรอยแผลรอบข้อและที่ก้านใบชัดเจน
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๒-๓ กาบ มีขน ก้านดอกยาว ๑-๑.๘ ซม. กลีบ
ผลแบบผลกลุ่ม เป็นช่อยาว ๑๒-๓๐ ซม. ก้านช่อผลยาว ๑.๕-๒ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว แข็ง มี ๑๕-๕๐ ผล ก้านผลย่อยสั้นมาก ผลย่อยรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๖ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๕ ซม. เปลือกหนา สีน้ำตาลอมดำ มีช่องอากาศนูนเด่น สีขาว เมล็ดรูปทรงกลมรี กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๗-๙ มม. มี ๑-๔ เมล็ด
จำปาป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ชื่อท้องถิ่น “จำปาดาน” มาจากชาวบ้านนิยมนำต้นมาเลื่อยทำกระดาน.