ช้างกระ

Rhynchostylis gigantea (Lindl.) Ridl.

ชื่ออื่น ๆ
ช้างค่อม, ช้างดำ, ช้างแดง, ช้างเผือก, เอื้องช้างเผือก (กรุงเทพฯ); เอื้องต๊กโต (เหนือ)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน แผ่นใบอวบหนาและเหนียว เห็นแนวเส้นใบขนานกันจากโคนสู่ปลายหลายเส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบช่อมักโค้งลง ดอกสีขาว มีจุดประสีชมพูอมม่วงหรือสีม่วงแดงคล้ำ มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก ปลายตัด โคนสอบ มีสันตามยาว ๓ สัน เมล็ดขนาดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก

ช้างกระเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด รากใหญ่และยาว มีค่อนข้างมาก ออกค่อนไปทางโคนต้น เส้นผ่านศูนย์กลางราก ๔-๗ มม. ยาวได้ถึง ๑ ม. ต้นตั้งตรงหรือเอนเล็กน้อย มีโคนใบหุ้มเกือบตลอด ต้นแข็งและเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑.๒ ซม. ยาวได้ถึง ๕๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน กว้าง ๔-๖ ซม. หรืออาจกว้างได้ถึง ๘ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ใบมักโค้งลงเล็กน้อย ปลายเฉียงและเว้าตื้นเป็นแฉกมน ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน โคนมีแนวขวางเหนือส่วนที่พับเข้าหากันและหุ้มต้น แผ่นใบอวบหนาและเหนียว เห็นแนวเส้นใบขนานกันจากโคนสู่ปลายข้างละ ๓-๕ เส้น เห็นเป็นแนวค่อนข้างชัดทั้ง ๒ ด้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ แต่ละต้นมี ๑-๔ ช่อ หรือมากกว่า ช่อดอกมักโค้งลง ทั้งช่อยาว ๑๒-๒๐ ซม. หรืออาจยาวได้ถึง ๒๕ ซม. ก้านช่อยาว ๔-๘ ซม. ดอกเรียงเวียนรอบแกนช่อค่อนข้างแน่นก้านดอกรวมรังไข่ ยาว ๑.๕-๒ ซม. ใบประดับเป็นแผ่นบาง รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. ดอกสีขาว มีจุดประสีชมพูอมม่วงหรือสีม่วงแดงคล้ำ


มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ คล้ายกัน รูปรีมักเบี้ยวเล็กน้อย กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายมน กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน กลีบดอกที่เป็นกลีบปากรูปขอบขนาน กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบปากมักมีสีเข้มกว่ากลีบอื่น ช่วงปลายมีแฉกตื้น ๆ ๓ แฉก แฉกข้างโค้งมนคล้ายรูปครึ่งวงกลม แฉกกลางรูปขอบขนานแคบปลายตัดมนเล็กน้อย ด้านล่างของแฉกกลางมีติ่งรูปคล้ายกรวยตื้น แนวกลางทางด้านบนของกลีบปากมีสันนูนตามยาว ๒ สัน โคนกลีบปากด้านล่างมีเดือย ยาว ๖-๗ มม. เดือยแบนข้าง ปลายมน เส้าเกสรยาว ๔-๕ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีคล้ายกลีบปาก รูปไข่ขอบโค้งลง กลุ่มเรณูรูปค่อนข้างกลม มี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีร่องเว้าลึก ก้านกลุ่มเรณูรูปแถบ โค้ง บางและใสโคนกว้างและพับเป็นแป้นเหนียว รูปคล้ายช้อนสั้นกว่าก้านกลุ่มเรณูเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งรูปค่อนข้างกลม อยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายตัด โคนสอบมีสันตามยาว ๓ สัน เมล็ดขนาดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก

 ช้างกระจัดเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 กล้วยไม้ชนิดนี่สีดอกมีความหลากหลายมากเคยมีการแยกออกเป็นพันธุ์ (variety) ตามสีดอกแต่ปัจจุบันจัดรวมเป็นชนิดเดียว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ในประเทศไทยที่พบตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงมาก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้างกระ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhynchostylis gigantea (Lindl.) Ridl.
ชื่อสกุล
Rhynchostylis
คำระบุชนิด
gigantea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Ridley, Henry Nicholas (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ช้างค่อม, ช้างดำ, ช้างแดง, ช้างเผือก, เอื้องช้างเผือก (กรุงเทพฯ); เอื้องต๊กโต (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง