ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปสามเหลี่ยมแกมรูปใบหอก รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔-๑๓ ซม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างมนปลายสุดเป็นติ่งแหลมอ่อนหรือเรียวแหลม โคนมน ตัดหรือเว้าตื้นเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางแต่มีเนื้อ ด้านบนมีขนสั้นนุ่ม ด้านล่างค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบคู่แรกออกใกล้โคนใบและเหนือขึ้นไปอีกข้างละ ๒-๓ เส้น ก้านใบยาว ๓-๖ ซม. ปลายก้านตรงบริเวณโคนใบมีต่อมขนาดเล็กเป็นกระจุก ๓-๕ ต่อม
ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบหรือระหว่างคู่ของโคนก้านใบ ก้านช่อยาว ๑.๕-๒ ซม. แกนกลางช่ออวบหนากว่าก้านช่อ ยาวประมาณ ๕ มม. มีใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกอ่อนโค้งงอ ยืดตรงเมื่อดอกบาน ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ขอบมีขนครุย กลีบดอกสีเหลือง รูปวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันแผ่เป็นแผ่นแบน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแหลม ขอบโค้งขึ้นเล็กน้อย กลางดอกมีกระบังรอบ
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ กางออกจากกัน รูปทรงกระบอกเรียวยาว กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. เมล็ดรูปทรงรี แบน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาว ๒.๕-๓ ซม.
ตานตะกางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้พบขึ้นตามป่าผลัดใบและชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู.