กระพี้จั่น

Millettia brandisiana Kurz

ชื่ออื่น ๆ
จั่น; ปี้จั่น, ปี๊จั่น (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและเหนือรอยแผลใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงหรือม่วงอมชมพู ฝักแบน ปลายและโคนฝักสอบ แก่จัดสีน้ำตาลอมเหลืองและแตก

กระพี้จั่นเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๘-๒๐ ม. เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาอมน้ำตาล

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๓-๗ ซม. โคนก้านบวมมักมีสีคล้ำ มีใบย่อย ๖-๘ คู่ เรียงตรงข้าม ใบอ่อนมีขนประปรายขนจะร่วงไปบ้างเมื่อใบแก่ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๘-๑.๗ ซม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือแหลม เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า ใบแก่เกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นกลางใบด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกออกตามปลายกิ่งและด้านข้างของกิ่ง ยาว ๗-๒๒ ซม. แตกแขนง ค่อนข้างโปร่ง เมื่อยังอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองประปราย แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก รูปดอกถั่ว สีม่วงหรือม่วงอมชมพู ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงสีม่วงดำติดกันคล้ายรูประฆัง ยาวประมาณ ๕ มม. ส่วนบนแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ๕ กลีบ กลีบดอกยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. มีขนาดและรูปทรงแตกต่างกัน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณู ๙ อัน ติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนอีก ๑ อันแยกเป็นอิสระรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแบนยาว มีขนสีขาวทั่วไป

 ฝักแบน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ตอนกลางและปลายฝักกว้างกว่าส่วนฐาน ปลายแหลมเป็นจะงอย ฝักอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเหลืองและแตก

 กระพี้จั่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ในต่างประเทศพบที่พม่า

 เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง เสี้ยนหยาบแต่สม่ำเสมอ ไม่ทนทาน ใช้ทาฟืน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระพี้จั่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia brandisiana Kurz
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
brandisiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
จั่น; ปี้จั่น, ปี๊จั่น (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข