ตาหยาว

Chisocheton pentandrus (Blanco) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ยมยอด (ใต้)
ไม้ต้นขนาดเล็ก โคนต้นขนาดใหญ่มีพูพอนเป็นสัน เปลือกต้นสีเทาแกมสีเขียว สีน้ำตาลแกมสีเทา หรือสีน้ำตาลเข้ม มักแตกตามช่องอากาศในแนวตั้ง ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อยได้ถึง ๒๒ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดถึงคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ เหนือซอกใบ หรืออาจพบตามซอกใบงัน แกนช่อมีขน ดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือคล้ายรูปกระสวย ปลายอาจมีจะงอย ผลสีเขียวแกมสีเทา มีขนสีน้ำตาลอมแดงหรือสีสนิม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง และสีแดงหม่น เปลือกผลมีน้ำยางสีขาว เมล็ดแบน รูปค่อนข้างกลม มีเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นเนื้อนุ่ม

ตาหยาวเป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๘ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๔๐ ม. โคนต้นขนาดใหญ่มีพูพอนเป็นสันสูงได้ถึง ๖๐ ซม. เปลือกต้นสีเทาแกมสีเขียว สีน้ำตาลแกมสีเทา หรือสีน้ำตาลเข้ม มักแตกตามช่องอากาศในแนวตั้ง เปลือกชั้นในสีเทาแกมสีเหลืองอ่อนหรือแกมสีชมพู และมักมีลายเส้นสีแดง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล และเกือบเกลี้ยงเมื่อแก่

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๔๕ ซม. มีใบย่อยได้ถึง ๒๒ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๖ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๙ ซม. ยาวประมาณ ๑๖.๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๖.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล ใบแก่ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือมีขนตามเส้นใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม. มีขน ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดถึงคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ยาวได้ถึง ๖๓ ซม. ออกตามซอกใบ เหนือซอกใบ หรืออาจพบตามซอกใบงัน แกนช่อดอกมีขน ดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ยาวได้ถึง ๑.๒ ซม. มีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาวประมาณ ๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายตัด แยกเป็นแฉกตื้น หรือเป็นแฉกไม่เท่ากัน เห็นไม่ชัด ด้านนอกมีขน กลีบดอกโคนมักเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแหลมและงุ้มเข้า เรียงจดกันในดอกตูม ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหรือเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร พบน้อยที่มี ๖ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาว ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขอบแฉกจักเป็นครุย หลอดมีขนทั้ง ๒ ด้านหรือเกลี้ยงด้านใน ปลายก้านชูอับเรณูแยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีก้านรังไข่สั้น มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้เล็กน้อย เกลี้ยงหรือมีขน ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือคล้ายรูปกระสวย ปลายอาจมีจะงอย ผลที่มีรูปทรงค่อนข้างกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๒.๕ ซม. ผลคล้ายรูปกระสวยกว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๘ ซม. สีเขียวแกมสีเทาและมีขนสีน้ำตาลอมแดงหรือสีสนิม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง และสีแดงหม่น เปลือกผลมีน้ำยางสีขาว เมล็ดแบน รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. มีเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นเนื้อนุ่ม

 ตาหยาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย บอร์เนียว ชวา เซเลบีส ฟิลิปปินส์ และโมลุกกะ

 ประโยชน์ ใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาหยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chisocheton pentandrus (Blanco) Merr.
ชื่อสกุล
Chisocheton
คำระบุชนิด
pentandrus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel (1778-1845)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ยมยอด (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์