ชาก้านยาว

Paraboea longipetiolata (B. L. Burtt) C. Puglisi

ไม้ล้มลุกหลายปี ต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อน โคนต้นอวบหนาแตกเป็นแขนงใหญ่แทรกตามซอกหิน และมีรากแขนงจำนวนมากแผ่ตามแผ่นหิน อาจมีหน่อขนาดเล็กอยู่ที่โคนลำต้นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้าง ก้านใบคู่ล่างยาวกว่าคู่บน ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีม่วงอมชมพูอ่อน คล้ายรูประฆังเบี้ยว ปากกว้างผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ บิดเป็นเกลียวห่าง สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวยสั้น สีน้ำตาลเข้ม

 ชาก้านยาวเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๑๕-๓๐ ซม. ต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อน โคนต้นอวบหนาแตกเป็นแขนงใหญ่ แทรกตามซอกหิน ๓-๕ แขนง และมีรากแขนงจำนวนมากแผ่ตามแผ่นหิน อาจมีหน่อขนาดเล็กอยู่ที่โคนลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ๔-๖ คู่ รูปไข่กว้าง กว้าง ๘-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปหัวใจ ขอบหยักมนไม่เท่ากัน เส้นแขนงใบด้านบนสีเขียวเข้ม เห็นชัดทางด้านล่าง แผ่นใบด้านล่างสีเหลืองซีดและมีขนคล้ายใยแมงมุมบาง ๆ


ก้านใบยาว ๕-๑๖ ซม. ก้านใบคู่ล่างยาวกว่าคู่บนใบแก่บริเวณโคนต้นแห้งเหี่ยวหรือหลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบออกตามซอกใบใกล้ยอด ๔-๑๐ ช่อ แต่ละช่อมีดอกประมาณ ๕ คู่ ก้านช่อดอกยาว ๖.๕-๙ ซม. ก้านช่อที่อยู่ด้านล่างสั้นกว่าด้านบน ใบประดับก้านช่อลดรูปคล้ายใบ รูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. ดอกสีม่วงอมชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงสีเขียวปลายสีแดง โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๓ แฉก อยู่ใกล้กันและแนบชิดกับโคนหลอดกลีบดอกด้านบนซีกล่าง ๒ แฉก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. ปลายมนหรือแหลม กลีบดอกคล้ายรูประฆังเบี้ยว ปากกว้าง โคนเชื่อมติดกันยาว ๑.๕-๒ ซม. ภายในหลอดสีเขียวอ่อน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมนกลม เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูเป็นแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. สีขาว โค้งถ่างออกตรงกลาง อับเรณูสีเหลือง ขนาด ๒.๕-๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร ไม่สมบูรณ์ อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก ลักษณะคล้ายก้านชูอับเรณู มีขนาดเล็กและสั้นสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คล้ายรูปกรวยคว่ำ ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๒-๔ ซม. บิดเป็นเกลียวห่าง ปลายเรียวสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่หุ้มอยู่ที่โคน ก้านช่อผลสีน้ำตาลแดงเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวยสั้น สีน้ำตาลเข้ม

 ชาก้านยาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบ ตามภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาก้านยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea longipetiolata (B. L. Burtt) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
longipetiolata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burtt, Brian Laurence
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ