ข่าลิงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า สีเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กาบใบเรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สูง ๐.๘-๑ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๕-๒๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ ใสและมีขน ก้านใบยาวประมาณ ๔ มม. ระหว่างรอยต่อของก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบค่อนข้างบางใส สีเขียวอ่อน รูปไข่ ยาวประมาณ ๔ มม. บริเวณขอบมีขน
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกระหว่างใบคู่บนสุด ยาว ๑๒-๒๐ ซม. มีดอกขนาดเล็ก จำนวนมาก ใบประดับช่อดอกรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. ช่อดอกย่อยแต่ละช่อยาวประมาณ ๒ ซม. ประกอบด้วยดอก ๒-๓ ดอก ใบประดับช่อดอกย่อยรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. แต่ละดอกมีใบประดับย่อยรูปแตร ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๔ มม. กลีบดอกสีเหลืองอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางรูปใบหอก กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. แฉกข้างรูปไข่ ขนาดเท่ากัน กว้าง ๖-๗ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน เป็นหมัน ๕ อันและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป โดย ๒ อันเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. สีแดงเข้ม ปลายสีเหลือง ส่วนอีก ๓ อันติดกันเป็นแผ่นเดียวขนาดใหญ่ เรียกว่า กลีบปาก รูปไข่กว้าง กว้าง ๘-๙ มม. ยาว ๖-๗ มม. สีเหลืองอ่อนและมีสีแดงแต้มเป็นรอยขีด ๔-๕ ขีด ๒ ข้างของเส้นกลางแผ่น ตรงกลางเป็นกระพุ้ง ปลายหยักเป็น ๒ แฉก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ ๕ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียอยู่ในหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลแห้ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. สีแดงสด เมล็ดมีกลิ่นฉุน
ข่าลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบทั่วไปในบริเวณป่าดิบชื้น และที่โล่งแจ้ง ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ผลกินได้และใช้ทำยา เหง้าใช้เป็นยากระตุ้น ขับเหงื่อ แก้เจ็บคอ ดีซ่าน ปวดหัว คลื่นเหียนอาเจียน ตกเลือดในมดลูก และใช้พอกแก้โรคข้ออักเสบ (Perry and Metzger, 1980).