ตาเสือเหลือง

Dysoxylum flavescens Hiern

ชื่ออื่น ๆ
ช้าลางสาดป่า (ใต้)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงและยาวไปตามพื้น เปลือกต้นสีน้ำตาล มักแตกล่อนเป็นแผ่นเล็ก มีช่องอากาศเล็กเป็นแฉกรูปดาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๗-๑๑ ใบ เรียงเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อแขนงคล้ายช่อเชิงลด ดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มี ๔ พู ผลแก่สีส้มแกมสีแดง ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกผลมีน้ำยางสีขาว ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง เมล็ดสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลคล้ำ ขั้วเมล็ดค่อนข้างใหญ่

ตาเสือเหลืองเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงได้ถึง ๑ ม. ยาวไปตามพื้นได้ถึง ๖๐ ซม. เปลือกต้นสีน้ำตาล มักแตกล่อนเป็นแผ่นเล็ก มีช่องอากาศเล็กเป็นแฉกรูปดาว เปลือกชั้นในสีนวลแกมสีชมพู

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีใบย่อย ๗-๑๑ ใบ เรียงเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๓.๔-๔.๗ ซม. ยาว ๗.๕-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม บางครั้งอาจเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเป็นมัน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๙ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๘-๑๓ ซม. ด้านบนมักแบน โคนก้านป่องเล็กน้อย ก้านใบย่อยยาว ๓-๔ มม. อาจพบยาวได้ถึง ๙ มม. เมื่อแห้งโคนก้านใบและโคนก้านใบย่อยมักมีสีดำคล้ำ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๕-๑๐ ซม. ช่อแขนงคล้ายช่อเชิงลด มีดอกเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็ก เรียงตามแกนช่อแขนงสั้น ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้นมาก ยาวไม่เกิน ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔ แฉก ด้านนอกมีขน กลีบดอกยาวประมาณ ๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดตัดหรือเป็นแฉกเล็ก ๘ แฉก มีขนทั้ง ๒ ด้าน ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูทรงรูปไข่ ขนาดเล็ก ยาวไม่พ้นปากหลอดเกสรเพศผู้ มีจานฐานดอกคล้ายหลอดสั้น เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบ ยาวใกล้เคียงกับหลอดเกสรเพศผู้ มีขน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้น ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มี ๔ พู เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๔ ซม. ผลแก่สีส้มแกมสีแดง ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกผลมีน้ำยางสีขาว ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง เมล็ดสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลคล้ำ มีขั้วเมล็ดค่อนข้างใหญ่

 ตาเสือเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dysoxylum flavescens Hiern
ชื่อสกุล
Dysoxylum
คำระบุชนิด
flavescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hiern, William Philip
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1839-1925)
ชื่ออื่น ๆ
ช้าลางสาดป่า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์