แฉลบแดง

Acacia leucophloea (Roxb.) Willd.

ชื่ออื่น ๆ
พญาไม้ (กาญจนบุรี)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ มีหนามแข็งแหลมยาว ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปแถบ หูใบเป็นหนามแหลมตรง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุกแน่น รูปกลม ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก รูปแถบแบน ตรง หรือโค้งเล็กน้อย เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมถึงรูปทรงรีหรือรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า แบนสีน้ำตาลแกมเทา

แฉลบแดงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกเรียบ สีเหลืองซีดแกมขาว ลอกเป็นเกล็ดไม่เป็นระเบียบ กิ่งกลม มีขนหรือเกือบเกลี้ยง มีหนามแข็งแหลมยาว

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. แกนกลางยาว ๓.๕-๘.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านบนแบน ใกล้ช่อใบย่อยคู่แรกและคู่ปลายมีต่อม ๒ ต่อม ช่อใบย่อยเรียงตรงข้ามมี ๖-๑๓ คู่ ยาว ๓-๔.๒ ซม. แต่ละช่อมีใบย่อย ๑๒-๑๕ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปแถบกว้าง ๐.๕-๑.๗ มม. ยาว ๐.๓-๑.๑ ซม. ปลายมนหรือเป็นติ่งหนามถึงแหลม หรือเป็นติ่งแหลม โคนตัดเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบโค้งขึ้น เห็นไม่ชัดเจน ก้านใบย่อยสั้นมาก หูใบเป็นหนามแหลมตรง ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. สีน้ำตาลเข้มหรือดำ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุกแน่นรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีใบประดับติดอยู่ที่ก้านช่อดอกย่อยตรงกึ่งกลางหรือต่ำกว่าใบประดับย่อยรูปใบพายถึงรูปช้อน ยาว ๑-๑.๓ มม. ดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหมหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว ๐.๑-๐.๒ มม. ปลายแหลม กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๒-๒ มม. มีขนประปราย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปรียาว ๐.๔-๐.๙ มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ ๒๐-๒๕ เกสร แยกกันเป็นอิสระ ก้านรังไข่สั้นมากรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนประปราย มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก รูปแถบแบน ตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้าง ๐.๙-๑ ซม. ยาว ๗-๑๒ ซม. ผลอ่อนมีขนแบบขนแกะถึงขนสั้นหนานุ่มผลแก่เกือบเกลี้ยง มี ๕-๑๕ เมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลมถึงรูปทรงรีหรือรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า แบน สีน้ำตาลแกมเทา กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕.๕-๖.๕ มม.

 แฉลบแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะที่เปิดโล่ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง เปลือกมีแทนนินสูงใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ในประเทศอินเดียใช้เป็นสารแต่งกลิ่นและฆ่าเชื้อในการกลั่นน้ำตาลเมา และเป็นพืชให้เส้นใยหยาบ ปลูกเป็นพืชสำหรับปรับปรุงดินและเป็นแนวป้องกันไฟ ในศรีลังกาใช้ย้อมใบเรือ เสื่อ เชือก และฟอกหนัง ผลกินได้และใช้เป็นอาหารสัตว์ ในอินโดนีเซียใช้เปลือกในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและฟอกหนัง เส้นใยใช้ทำแหอวน เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างภายใน ทำเครื่องเรือน ทำฟืนและเผาถ่าน เมล็ดเพาะให้งอกกินเป็นผัก ต้นและรากผลิตยางไม้สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ฝักและใบมีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แฉลบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acacia leucophloea (Roxb.) Willd.
ชื่อสกุล
Acacia
คำระบุชนิด
leucophloea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Willdenow, Carl Ludwig
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Willdenow, Carl Ludwig (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
พญาไม้ (กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี