ตองเต่าเป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๕ ม. กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น และขนจะค่อย ๆ ร่วงไป เปลือกสีน้ำตาลค่อนข้างบางและมักแตกเป็นสะเก็ดห้อยลง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน โดยทั่วไปรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปห้าเหลี่ยม กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนและเบี้ยว ขอบใบส่วนโคนเรียบ ปลายเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวอ่อน เกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปราย ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น และขนมักหลุดร่วงไปหรืออาจติดทน เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นคู่ข้างไปสุดที่ขอบใบประมาณกึ่งกลางใบ ส่วนเส้นแขนงใบที่ออกจากเส้นกลางใบมีข้างละ ๓-๔ เส้น ปลายเส้นโค้งและมักเชื่อมกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่างเส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น โคนก้านมีหูใบรูปใบหอก ๑ คู่ ยาวไม่เกิน ๑ ซม. ร่วงง่าย
ดอกเดี่ยว สีขาว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งดอกสมบูรณ์เพศหรืออาจพบดอกแยกเพศบ้าง ดอกตูมรูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขนและใบประดับ ๓ ใบ รูปใบหอก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกัน รูปใบหอก กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๓.๕-๔ ซม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน ติดทนและขยายใหญ่เมื่อเป็นผลกลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑๕ เกสร แต่ละเกสรยาวไม่เกิน ๒.๕ ซม. ติดที่ปลายก้านชูเกสรร่วมปะปนกับเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก ๕ เกสร ซึ่งยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. ตามก้านอับเรณูทั้ง ๒ แบบ จะมีต่อมโปร่งแสงกระจายทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงเกือบกลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. อยู่บนปลายก้านชูเกสรร่วม มีขน มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกบิดเป็นเกลียว
ผลแบบผลแห้งแตก แข็งเหมือนไม้ รูปกระสวยหรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. แตกตามยาว ๕ ซีก มีกลีบจุกผล ร่วงง่าย ผลอ่อนมีขนหรือเกล็ดบาง ๆ เมื่อแก่จะหลุดร่วงไป แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดทรงรูปไข่ มีปีกบาง ๑ ปีก ทางส่วนปลายของเมล็ด ปีกกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ก้านผลเรียว ยาวได้ถึง ๕ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม
ตองเต่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น ใกล้แหล่งเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๓๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและลาว
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา เนื้อไม้ทำเครื่องตกแต่งบ้านและใช้เป็นเชื้อเพลิง.