งาเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง ๒ ม. ส่วนบนของลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมและเป็นร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่มเกือบทั้งต้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียนทางช่วงบนของลำต้น ช่วงล่างเรียงตรงข้าม รูปร่างแตกต่างกันหลายแบบ ใบที่อยู่ช่วงบนของลำต้นรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขนต่อมเป็นเมือก ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. ใบช่วงล่างของลำต้นรูปใบหอกถึงรูปไข่ ใบที่มีขนาดใหญ่ส่วนโคนใบจะหยักหรือหยักลึกคล้ายรูปฝ่ามือ กว้าง ๐.๕-๑๕ ซม. ยาว ๔-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน ใบใหญ่โคนสอบกว้าง ขอบหยักลึก แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย และมีขนต่อมเป็นเมือก ก้านใบยาว ๒-๑๕ ซม. เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เป็นร่องทางด้านบน นูนชัดทางด้านล่าง
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ช่อละ ๑-๓ ดอก ดอกห้อยลง สีขาว สีชมพูสีชมพูอมม่วง หรือสีม่วง ก้านดอกสั้น มีขนประปรายและมีต่อมน้ำต้อยอยู่ด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๓-๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๓-๔ ซม. ด้านล่างโป่งข้างเดียว ปลายแยกคล้ายรูปปากเปิดเป็นแฉกกว้าง ๕ แฉก ปลายมน แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่น ๆ และมีสีเหลืองที่โคนแฉกด้านใน (ยกเว้นชนิดดอกสีขาว) ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน คู่ยาวมีก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๒ ซม. คู่สั้นมีก้านชูอับเรณูยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. อับเรณูแตกตามยาว เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๑ เกสร มีขนาดเล็ก จานฐานดอกเป็นวงล้อมรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม มีขนหนาแน่น มี ๒ ช่อง แต่ละช่องเป็นลอน ๒ ลอน และมีออวุลจำนวนมากติดรอบแกนร่วมเรียงเป็นแถวตามยาว ๒ แถว ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๑.๕-๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม มีร่องตามยาว กว้าง ๐.๖-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. โคนมน ปลายมีจะงอยสั้นและกว้าง มีขนสั้นนุ่ม เมื่อแก่สีน้ำตาลถึงน้ำตาลอมม่วงเมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒.๕-๔ มม. ค่อนข้างแบน หนาประมาณ ๑ มม. สีดำ สีน้ำตาล หรือสีนวล
งาเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ในสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย นำไปปลูกเพื่อใช้เมล็ดเป็นอาหาร พบในที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทั่วทุกภาค
ประโยชน์ เมล็ดงาและน้ำมันงาใช้เป็นอาหารบำรุงกำลัง น้ำมันงาที่บีบโดยไม่ใช้ความร้อน เรียกว่า “น้ำมันงาเชย” นิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางช่วยบำรุงผิว ในเมล็ดงามีน้ำมันร้อยละ ๔๕-๕๕ ประกอบด้วยกรดไขมัน และสาร sesamol และ d-sesamin สารทั้ง ๒ ชนิดนี้มีสมบัติในการเสริมฤทธิ์ของไพเรทริน (pyrethrin) ซึ่งเป็นสารที่พบในดอกไพเรทรัม (pyrethrum) ทำให้มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงดีขึ้น ๒ เท่า ดังนั้นจึงใช้น้ำมันงาเป็นตัวละลายสิ่งสกัดที่ได้จากดอก เพื่อทำยาฆ่าแมลง.