ไข่นกกระทาดง

Distylium annamicum (Gagnep.) Airy Shaw

ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ กิ่งอ่อนเกลี้ยง กิ่งแก่มีปุ่มหูดสีน้ำตาลเป็นถุงคล้ายหลอดหรือเขาสัตว์ ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปใบหอกแคบ ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อเชิงลดหรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ไร้กลีบ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่

ไข่นกกระทาดงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. แตกกิ่งต่ำเปลือกเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนเกลี้ยง กิ่งแก่มีปุ่มหูดสีน้ำตาลเป็นถุงคล้ายหลอดหรือเขาสัตว์ ยาวประมาณ ๓ ซม. เป็นพวงอยู่ทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแคบ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม แผ่นใบหนา เกลี้ยง หรืออาจมีขนประปรายตามแนวเส้นกลางใบเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น แต่ละเส้นโค้งแต่ไม่จดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. หูใบรูปแถบแกมรูปใบหอกยาว ๒-๘ มม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อเชิงลด หรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ไร้กลีบ เกสรเพศผู้ในดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศมี ๔ เกสร อยู่บนก้านชูเกสรเพศผู้หรือก้านชูเกสรร่วม อับเรณูแตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบบนก้านชูเกสรเพศเมียหรือก้านชูเกสรร่วมรังไข่รูปค่อนข้างกลม มีขนรูปดาวสีน้ำตาลเข้ม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกกันเป็นรูปเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนรูปดาว ปลายผลเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม

 ไข่นกกระทาดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่นกกระทาดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Distylium annamicum (Gagnep.) Airy Shaw
ชื่อสกุล
Distylium
คำระบุชนิด
annamicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
- Airy Shaw, Herbert Kenneth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François (1866-1952)
- Airy Shaw, Herbert Kenneth (1902-1985)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย