เครือข้าวเย็นเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง ๔๕ ม. เลื้อยทอดแผ่กิ่งก้านปกคลุมเรือนยอดไม้ ทุกส่วนที่ยังอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่นสีนํ้าตาลแกมเทา ถ้าตัดต้นในขณะที่ยังสดอยู่ จะมีนํ้าเลี้ยงสีแดงซึมออกมา
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงเวียนมีใบย่อย ๕-๙ใบ เรียงตรงข้ามยกเว้นใบปลายสุด รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. ปลายมนกว้าง ปลายเส้นกลางใบมักยื่นโผล่พ้นขอบใบออกไปเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนค่อนข้างสาก ด้านล่างมีขนสีเทานุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่างใบย่อยปลายสุดมีขนาดใหญ่และยาวกว่าใบย่อยคู่ข้าง ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. มีขนละเอียดหนาแน่นหูใบเรียวแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งอ่อนหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๑๐-๑๕ ซม. ทุกส่วนมีขนนุ่มหนาแน่นสีเทาแกมน้ำตาล ดอกรูปดอกถั่ว ออกตามซอกใบประดับซอก ละ ๑ ดอก ใบประดับเป็นเส้นเรียวเล็กคล้ายเหล็กหมาด ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงสีม่วงเข้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเรียวแหลม ๕ แฉก มีขนค่อนข้างหนาแน่นทางด้านนอก กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลืองอ่อนแกมม่วง กลีบกลางรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ ซม. กว้าง ประมาณ ๕ มม. ปลายกลีบหยักเว้าเข้า ส่วนกลีบคู่ข้างและกลีบคู่ล่างรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนกลีบเป็นก้านเรียว ส่วนที่เป็นก้านยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มรังไข่ ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๕-๗ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้งงอนขึ้น
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝัก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๗ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่น ขอบฝักเป็นสันบุนตามยาวเมล็ด ๕-๗ เมล็ด รูปคล้ายไต
เครือข้าวเย็นเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเบญจพรรณแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ศาสตราจารย์ Craib ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของเครือข้าวเย็นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๔, ต้นราชสทุลกิติยากร)