ตานงันเขาเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. กิ่งมีขนหยาบแข็ง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ กว้าง ๐.๘-๒ ซม. ยาว ๑.๒-๖.๕ ซม. ค่อย ๆ เล็กเรียวไปยังปลาย ปลายแหลมและมักมีติ่งหนามสั้น โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ มักม้วนลง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนกว่า มีขนประปรายถึงขนแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เห็นชัดเส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๒-๒ มม. มีขน หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๒-๐.๕ มม. ยาว ๒-๔ มม. มีขนหยาบแข็งประปราย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ขนาดเล็ก ออกเป็นกลุ่มรวมกันทั้ง ๒ เพศ ตามซอกใบ ดอกห้อยลง มีใบประดับกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๖ แฉก ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๒-๓ มม. ก้านดอกยาว ๒.๘-๔ มม. มีขนเล็กน้อย กลีบเลี้ยงแผ่แบน จักเป็นแฉกตื้น แฉกกว้างได้ถึง ๐.๔ มม. ยาวได้ถึง ๑.๒ มม. มีเกล็ดใกล้โคนกลีบ ด้านนอกมีขนเล็กน้อย ก้านชูเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๐.๒ มม. สีออกชมพู เกสรเพศผู้ ๓ เกสร อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. และไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านดอกยาว ๐.๗-๑ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๒.๕ มม. มีขน แฉกกลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๐.๔-๐.๗ มม. ติดทนเมื่อเป็นผล กว้างได้ถึง ๑.๒ มม. ยาวได้ถึง ๑.๓ มม. สีเขียวอมเหลือง ด้านนอกมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. สีเขียวอ่อน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. แผ่ราบ สีเขียวอมเหลือง
ผลแบบผลแห้งแยก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ มม. สูง ๔-๕ มม. สีเหลืองถึงสีส้มเมื่อแตกมีแกนกลางยาว ๑.๒-๒ มม. ปลายเรียวแหลมเมล็ดรูปสามเหลี่ยมเมื่อตัดขวาง กว้าง ๓-๓.๒ มม. ยาว ๔.๕-๔.๘ มม. หนา ๒.๘-๓.๒ มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ตานงันเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามทุ่งโล่งที่รกร้าง พื้นที่เกษตรกรรม อาจพบบ้างตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา และฟิลิปปินส์.