ขามคัวะเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๕-๑๕ ม. กิ่งเมื่ออ่อนมีขนมาก เปลือกเรียบหรืออาจแตกเป็นสะเก็ดโตตามโคนลำต้น สีน้ำตาลอมเทา เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งมักห้อยลงคล้ายรูปร่ม
ใบเดี่ยว เรียงเวียนตามกิ่งอ่อน รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๖-๒๕ ซม. ปลายแหลมทู่หรือคอดเป็นติ่งแหลม โคนเบี้ยว ด้านหนึ่งเว้าลึกเป็นมุมแหลม อีกด้านหนึ่งค่อนข้างมน ขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่นบ้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างโดยเฉพาะตามเส้นใบมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายมักเชื่อมกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. มีขนสั้นๆ มาก หูใบเรียวแหลม ร่วงง่าย
ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นกระจุกไม่เกิน ๓ ดอก ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง โคนดอกมีใบประดับ ๓ ใบ แต่ละใบเป็นริ้วคล้ายหนวดปลาหมึก กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนแน่นทั้ง ๒ ด้าน ดอกสีขาว ดอกตูมรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกันหรืออาจติดกันบริเวณโคนกลีบเล็กน้อย กลีบรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกกลับหรือรูปช้อน กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๖ ซม. แยกกัน ปลายกลีบด้านนอกมีขนประปราย ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี ๑๒ อัน ยาวประมาณ ๓ ซม. โคนก้านชูอับเรณูติดรอบใต้รังไข่ที่อยู่บนปลายก้านชูเกสรร่วม อับเรณูรูปรี ติดที่ฐาน แตกตามยาวด้านข้าง มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบบนปลายก้านชูเกสรร่วม รูปป้อมหรือรูปทรงกระบอก มีขน มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนประปรายตามส่วนที่ค่อนไปทางโคน ปลายมี ๕ แฉก แผ่ออก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๓.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. สีน้ำตาล ผิวหนาและแข็ง มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลแดง ไม่มีสันแต่เป็นร่องตามแนวตะเข็บ ๕ แนว เมื่อแก่จัดแตกตามแนวตะเข็บเป็น ๕ เสี่ยง กลีบเลี้ยงติดทนอยู่ที่ขั้วผล ก้านผลยาว ๓-๔ ซม. มีเมล็ดจำนวนมาก รูปป้อม มีปีกบาง ๆ ๑ ปีก ทั้งหมดกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๒-๓ ซม.
ขามคัวะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าเหล่าและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.