กระพี้

Dalbergia nigrescens Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กระพี้โพรง, ฉนวน, สนวน (กลาง); ไฮปันชั้น (ลำปาง)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่นฝักรูปขอบขนาน

กระพี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนนุ่มสั้น ๆ แต่จะค่อย ๆ ร่วงไป

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๘-๑๒ ซม. มีใบย่อย ๑๑-๑๕ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายมนถึงหยักเว้าเล็กน้อยโคนมนถึงสอบกว้าง เส้นใบไม่เด่นชัด

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ยาว ๕-๑๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ฝักรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๖.๕-๑๐ ซม. ผิวเรียบ ปลายมน โคนเรียว สีดำเมื่อแห้ง ตรงกระพุ้งเมล็ดหนาและแข็งกว่าบริเวณอื่น มี ๑-๒ เมล็ด

 กระพี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๐๐ ม. ในต่างประเทศ พบที่อินเดีย พม่า ลาว และกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระพี้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia nigrescens Kurz
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
nigrescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระพี้โพรง, ฉนวน, สนวน (กลาง); ไฮปันชั้น (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม